The best of Soap by Artisan Valley
11
“เรื่องราวของสบู่ก่อนที่จะถูกลืม”
23 Dec. 2017
วันก่อนมีพี่ในกลุ่มโทรมาบ่นว่าเขามีปัญหากับการหาซื้อสบู่ดีๆ ในเมืองไทยมากๆ จนอยากจะทำมาขายเอง
ส่วนตัวแล้วเคยขลุกอยู่กับสบู่จนเรียกได้ว่าคลั่งอยู่ช่วงหนึ่งเลยพอจะมีความรู้อยู่บ้าง ผมอธิบายให้ฟังคร่าวๆ ถึงการทำสบู่ดีๆ สักก้อนให้พี่เขาฟัง คุยไปคุยมาพี่เขาเริ่มเห็นภาพ สบู่ดีๆ จริงๆ นั้นมีกระบวนการที่เป็นศาสตร์เป็นศิลป์อยู่สูง แต่ปัจจุบันสบู่ที่เราใช้กันโดยมากก็เป็นสบู่กรีเซอรีน ถ้าเป็นสบู่ทำมือก็มักจะเป็นสูตรที่มีส่วนผสมของน้ำมันแข็งและสเตียริคเอซิดอยู่สูงเพราะจะทำให้ขึ้นรูปง่ายเนื้อเนียนน่าใช้
ถ้าให้ผมจัดลำดับสบู่แล้วล่ะก็ในมุมมองผมจะจัดเรียงได้ดังนี้ครับ
1. Aleppo Soap
Fig. 1 Aleppo soap
– สบู่ที่ทำยากที่สุดถึงที่สุด หาซื้อได้จากเมืองอเลปโปประเทศซีเรียเป็นสบู่ที่ดีที่สุดมีสารบำรุงผิวอยู่ครบแถมฆ่าเชื้อโรคได้ดีอีกต่างหาก ถ้าอ่านประวัติศาสตร์จะเห็นว่ายุคหนึ่งฝรั่งเศสมีโรคระบาดคร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากสาเหตุก็มาจากสุขอนามัยที่ไม่ดีในยุคนั้นประกอบกับชนชาตินี้ไม่นิยมอาบน้ำเลยมีเชื้อโรคหมักหมม แต่ก็ต้องเข้าใจเขาอยู่หน่อยๆ ว่าบ้านเมืองเขาเป็นประเทศหนาวเย็น การอาบน้ำบ่อยนอกจากจะทรมานจิตใจแล้วยังทำให้ผิวแห้งแสบ
ด้วยเหตุนี้เองเมื่อ Aleppo soap เข้ามาถึงโดยการนำเข้ามาจากพ่อค้าต่างถิ่น สบู่ก้อนนี้จึงเหมือนของวิเศษที่ทำให้คนฝรั่งเศสนิยมอาบน้ำกันมากขึ้น กล่าวคือเมื่อใช้สบู่ Aleppo แล้วผิวไม่แห้งแตกหรือแสบ กลับกันผิวยังดูสุขภาพดีและเปล่งปลั่ง ในยุคสมัยนั้นจึงทำให้สบู่ Aleppo กลายเป็นสินค้าขายดีจนทำให้สุขอนามัยของชนชาติฝรั่งเศสดีขึ้นและโรคระบาดต่างลดน้อยลง แต่ทว่าด้วยความที่เริ่มหายากเพราะขนส่งไกลประกอบกับราคาที่น่ากลัวจึงทำให้สบู่ชนิดที่สองเกิดขึ้นมาในยุโรป
2. Castile Soap
Fig. 2 Castile Soap
– Castile เป็นชื่อแคว้นคาสตีลของสเปนที่ให้กำเนิดสบู่ประเภทนี้ แน่นอนว่าวิทยาการทั้งศาสตร์และศิลป์ในยุโรปสมัยนั้นนั้นเฟื่องฟูมาก การคิดสบู่ดีๆ ขึ้นมาสักสูตรจึงไม่ใช่เรื่องยากเท่าไร การจะทำ Aleppo soap ขึ้นมาสักก้อนนั้นจะต้องมีส่วนผสมสำคัญอย่างน้ำมัน laurel oil ซึ่งเป็นของหายากมากในยุโรป แต่กลับกันฝั่งยุโรปเองก็มีน้ำมันมะกอกคุณภาพดีแถมราคาถูกเป็นจำนวนมากอยู่เป็นทุนเดิม จึงทำให้มีการคิดค้นกระบวนการทำสบู่จากน้ำมันมะกอก 100% โดยไม่มีน้ำมัน Laurel oil เกิดขึ้น
การทำสบู่ Castile นั้นยากพอๆ กับ Aleppo แต่ด้วยที่ชาวยุโรปสามารถผลิตได้เองจึงทำให้ปัญหาการแย่งชิงสบู่ Aleppo นั้นยุติลง แน่นอนว่าเรื่องการบำรุงผิวอาจจะไม่ได้ดีเท่า Aleppo แต่น้ำมันมะกอกคุณภาพดีก็มีสารบำรุงที่มากพอสำหรับผิวมนุษย์ที่เหลือก็ไปพึ่งเครื่องสำอางค์หรือสารบำรุงอย่างอื่นเอาก็เท่ากับว่าเป็นการแตกไลน์ไปสู่สินค้าอื่นได้อีกด้วยครับ
3. Savon de marseille
Fig. 3 Savon de marsille
– มีอยู่จุดหนึ่งที่ถือเป็นจุดอ่อนของทั้ง Aleppo และ Castile soap นั่นก็คือการมีสินค้าแค่ประเภทเดียว เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่มีความเบื่อถึงแม้ว่าของสิ่งนั้นจะดีมากๆ แต่ยังไงมนุษย์ก็ชอบเลือกชอบลองชอบการค้นหาเป็นนิสัย และอีกข้อที่เป็นจุดอ่อนคือกระบวนการทำสบู่ทั้งสองนั้นยากและเนิ่นนานจนเกินไปจึงทำให้เกิดการพัฒนาสบู่สูตรใหม่ขึ้นมาอีกสูตรนั่นคือ Savon de marseille
คำว่า Savon แปลว่า สบู่ ส่วน Marseille เป็นชื่อเมืองที่ให้กำเนิดเจ้าสบู่ประเภทนี้ รวมความหมายก็จะได้ประมาณว่า “สบู่ของเมืองมาร์แซร์”
สบู่ประเภทนี้มีการลดสัดส่วนของน้ำมันอ่อนลงไปต่ำกว่า 80% แทนที่ด้วยน้ำมันประเภทอื่นและเติมน้ำมันหอมระเหยลงไปเพิ่มเพื่อแต่งกลิ่น นี่คือจุดเปลี่ยนหลังจากชาวยุโรปหมกมุ่นอยูู่กับคุณภาพสินค้าเป็นหลักมานาน การตอบสนองด้านอารมณ์และแฟชั่นได้เข้ามาสอดแทรกอยู่ในกระบวนการทำสบู่ Savon de marseille นั้นถึงแม้จะมีคุณภาพเรื่องการบำรุงไม่ได้สู้เท่าพี่ใหญ่ทั้งสองแต่ Savon de marseille มีความหลากหลายกว่าทั้งด้านกลิ่นและสีสัน นอกจากกลิ่นที่มีความหลากหลายแล้วคุณสมบัติธรรมชาติของน้ำมันหอมระเหยบางตัวก็กลายเป็นจุดขายของสบู่ประเภทนี้ไปในตัวด้วย เช่น Savon de marseille กลิ่นลาเวนเดอร์ที่ช่วยให้ผ่อนคลาย หรือกลิ่นกุหลาบที่ช่วยให้คุณมีความสุขมากขึ้นกับการอาบน้ำ เรียกได้ว่าเป็นจุดร่วมที่ค่อนข้างลงตัวเลยทีเดียวของผลิตภัณฑ์อาบน้ำที่ทำความสะอาดได้ดีไม่ทำลายผิว มีการบำรุงผิวประมาณหนึ่งและมีเรื่องของกลิ่นหอมมาร่วมด้วย ถึงแม้จะเทียบไม่ได้กับพี่ใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของสบู่ทั้งสองแต่ก็ถือว่า Savon de marseille เองนั้นประสบความสำเร็จอย่างงดงามจนเป็นที่นิยมมาถึงปัจจุบัน
4. สบู่กวนน้ำมันแบบ Cold press
Fig. 4 Cold press soap
– อันที่จริงการแบ่งประเภท Cold หรือ Hot press เป็นแค่การบอกว่าสบู่นั้นทำมาแบบไหน ซึ่งในความเป็นจริงสบู่สามประเภทที่กล่าวมาก็ผ่านกระบวนการสองอย่างนี้ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งเหมือนกันแต่การที่เราไม่เรียกสบู่ทั้งสามชนิดตามชื่อกระบวนการเนื่องจากสบู่ทั้งสามมีประวัติและส่วนผสมอย่างชัดเจนเป็นสูตรเฉพาะตายตัวที่สามารถแบ่งประเภทออกไปต่างหากได้ แต่ถ้าพูดถึง Cold press soap เฉยๆ โดยมากมักจะเป็นสบู่กวนน้ำมันที่มีสัดส่วนน้ำมันอ่อนน้ำมันแข็งปริมาณเท่าๆ กันและสามารถเปลี่ยนชนิดของน้ำมันได้ตามความพอใจ เพียงแต่เมื่อหาสัดส่วนได้แล้วก็นำมาเข้ากระบวนการ Cold press แค่นั้นเฉยๆ ครับ
ข้อดีของสบู่ Cold press คือยังคงสารมีประโยชน์ต่างๆ ไว้ในสูตรได้เกือบครบถ้วนแถมยังสามารถทำกลิ่นทำสีได้อีกด้วย แต่ข้อเสียอย่างชัดเจนของสบู่ประเภทนี้เลยคือการหมักที่ใช้เวลานาน(แต่ก็ไม่นานเท่าสบู่เทพทั้งสามชนิดที่กล่าวไปเบื้องต้นนะครับ) แต่ก็ยังถือเป็นสบู่ที่ทำความสะอาดได้ดีเนื่องจากน้ำมันแข็งในสูตรมีสูงสามารถชะล้างสิ่งสกปรกได้มากเหมาะกับเขตร้อนที่ไม่ชอบผิวฉ่ำๆ มากจนเกินไป
5. สบู่กวนน้ำมันแบบ Hot press
Fig. 5 Hot press soap
– ต่างกันเพียงเล็กน้อยกับสบู่ Cold press ก็ตรงที่ว่ามีการใช้ความร้อนมาช่วยเร่งปฏิกิริยาทำให้เวลาในการทำน้อยลงและไม่ต้องหมักนานมากเหมือนสบู่ Cold press คุณสมบัติต่างๆ ก็ถือว่าใกล้เคียงกันอาจจะมีการลดลงไปบ้างสำหรับสารให้ประโยชน์จากธรรมชาติซึ่งสลายตัวไปด้วยความร้อนสูง
ข้อแตกต่างที่ชัดเจนของ Hot press กับ Cold press คือ สบู่ Hot press มักจะทำสีทำกลิ่นได้ลำบากกว่าเนื่องจากเมื่อให้ความร้อนแล้วจะเกิดการเทรซที่เร็วจนไม่สามารถเติมอะไรได้มากไปกว่าสัดส่วนน้ำมันที่คำนวณไว้ อีกข้อที่สำคัญคือสบู่ Hot press มักจะละลายน้ำได้เร็วกว่า Cold press ทำให้ใช้ได้สักพักสบู่ก็หมด แต่มองในอีกแง่ก็ทำให้วงจรการกลับมาซื้อของลูกค้าเร็วขึ้นก็ถือเป็นข้อดีไปสำหรับผู้ผลิต
6. สบู่กรีเซอรีน
Fig. 6 Glycerin soap
– สบู่ 5 แบบที่กล่าวไปถูกปฏิวัติวงการทันทีเมื่อ Glycerin ถือกำเนิดขึ้นมา กระบวนการทำสบู่ในปัจจุบันล้วนแล้วแต่พึ่งพา Glycerin ซะเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากความง่ายในการทำระยะเวลาที่สั้นและสามารถแต่งเติมสีกลิ่นคุณสมบัติได้หลากหลายแบบ โดยมีสารชะล้างสำคัญคือ SLS(Sodium Lauryl Sulfate) เป็นสารหลักในส่วนผสม
SLS ถูกค้นพบในขณะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง สารชนิดนี้ถูกใช้แทนที่สบู่ในวงการทหาร เนื่องจากชะล้างและฆ่าเชื้อโรคได้ดีแถมไม่ต้องยุ่งยากในการทำและรอคอยกระบวนการ Saponification ของสบู่อย่างที่เคยทำๆ กันมาในอดีต สารชนิดนี้มีบทบาทมากในวงการเครื่องสำอางค์ในยุคถัดมา แน่นอนว่าสบู่กรีเซอรีนทำความสะอาดได้ดีแต่ด้วยความรุนแรงในการชะล้างที่สูงจึงทำให้ชั้นไขมันของผิวถูกชะล้างออกไปด้วย เราจะพบเห็นว่าคนยุคปัจจุบันนั้นผิวแห้งและแพ้ง่ายกว่าผิวคนยุคก่อนๆ นี่ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุ เพราะเมื่อชั้นไขมันที่เป็นส่วนปกป้องผิวถูกชะล้างออกไปโดยปรกติร่างกายจะฟื้นสภาพผิวในระยะเวลา 12 ชั่วโมง ทว่าคนเราโดยมากมักจะอาบน้ำซ้ำอีกครั้งก่อนที่ผิวจะคืนสภาพ ทำให้ผิวขาดการปกป้องโดยธรรมชาติ
SLS และกรีเซอลีน แทบจะไม่มีหน้าที่อื่นเลยนอกจากทำความสะอาด เป็นการลดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นจนเหลือแค่หน้าที่ที่แท้จริงตามหลักการ Minimalist ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สบู่ในยุคปัจจุบันมีราคาถูกมากๆ ด้วยครับ
แน่นอนว่าการเข้ามาแทนที่ของสบู่กรีเซอรีนทำให้สบู่ชนิดอื่นที่ทำยากกว่าเริ่มหายไปจากตลาด จนบางคนแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสบู่อะไรแบบนี้ก็มีอยู่ในโลกด้วยหรือ? ย้อนไป 5 ปีก่อนผมเองเกิดความรำคาญในการหาซื้อ Aleppo จนคิดจะเป็นผู้นำเข้ามาขายเองในไทย ผมส่งอีเมล์ไปยังผู้ผลิตที่อยู่ในเมือง อเลปโปประเทศซีเรียอยู่หลายรอบ กว่าเขาจะตอบกลับมาก็นานจนเกือบลืมแต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเมื่อคุยกันยังไม่ได้ข้อสรุปกลุ่มผู้ก่อการร้ายก็รบพุ่งกันในซีเรีย และในปีถัดๆ มาเมืองอเลปโปก็โดนถล่มเละอย่างที่เรารู้กันในปัจจุบัน จึงทำให้สบู่อเลปโปยิ่งกลายเป็นของหายากและไม่เป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีก
ต่อมาจึงเริ่มทดลองทำเอง ถามว่าตอนนั้นรู้สึกยังไง มันตื่นเต้นมากครับมีไฟสุดๆ ถึงแม้ว่าจะหาน้ำมัน laurel oil ได้ยากแต่ก็พยายามหาอะไรมาทดแทนจนมาลงตัวกับสูตรของ Castile soap ที่ใส่น้ำมันหอมระเหยลงไปด้วย แบทแรกผ่านไปเอามาใช้รู้สึกดีและภูมิใจมากครับ แต่ด้วยความยากของกระบวนการรวมถึงระยะเวลาที่ยาวนานพอผ่านไปสักพักผมก็ยอมแพ้ในที่สุด
มีโครงการจะรื้อฟื้นอีกสักครั้งอยู่ลึกๆ ในใจเหมือนกันครับขอเวลาอีกสักหน่อยเพื่อหาความพร้อม แต่ในวันนี้เพื่อไม่ให้เสียเวลาผมก็ได้เอาสูตรการทำสบู่ Castile soap ในแบบ Artisan Valley มาฝาก เผื่อใครพอมีพลังก็ลองเอาไปทำดูนะครับ แล้วจะได้รู้ว่าของดีเป็นยังไงรวมถึงจะได้รู้ด้วยว่ากว่าจะได้มาสักก้อนนั้นยากเย็นแค่ไหนครับ
Fig. 7 Soap shop in French
Castile Scent Soap by Artisan Valley
Castile Soap อย่างที่รู้กันว่าเป็นการพัฒนาจาก Aleppo โดยตัดส่วนของน้ำมัน laurel oil ออก ดังนั้นสูตรดั้งเดิมจะเป็นการใช้น้ำมันมะกอกแท้ 100% แต่ในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มสารสกัดอื่นๆ เข้าไปจึงทำให้มีการใช้สัดส่วนน้ำมันมะกอกที่น้อยลง แต่ถึงอย่างไรหากจะให้ขึ้นชื่อว่า Castile soap ก็ควรมีน้ำมันมะกอกอยู่ในสูตรราวๆ 80%
โดยมากแล้วอากาศแถบภูมิภาคบ้านเราเป็นเขตร้อนชื้นการใช้สบู่ที่ให้ค่าความชุ่มชื้นสูงหากเป็นผิวปรกติจะทำให้รู้สึกเหนอะหนะ ยกเว้นก็แต่ว่าคุณเป็นคนผิวแห้งมากและอยู่ในห้องแอร์ประจำถ้าเป็นเช่นนั้นการใช้สบู่ที่ให้ค่าความชุ่มชื้นสูงก็อาจจะเป็นทางเลือกเพื่อป้องกันสภาพผิวที่ดีกว่า
ผมออกแบบสูตรเพื่อให้เกิดค่าชะล้างที่พอดีๆ แต่ยังคงรูปแบบ Castile soap และมีกลิ่นหอมอ่อนๆ โดยมีแนวคิดว่านี่น่าจะเหมาะกับคนไทยและภูมิภาคใกล้เคียงที่สุด อีกข้อหนึ่งคือสบู่ Castile soap แบบดั้งเดิมนั้นจะมีฟองน้อยเนื้อสบู่ไม่แข็งมากยิ่งโดนความร้อนบ้านเราเข้าไปยิ่งทำให้สบู่คงตัวยากจึงต้องมีการปรับเล็กน้อยและข้อสังเกตที่ถือเป็นเทคนิคอีกอย่างคือสบู่ประเภท Castile, Aleppo และ Savon de marseile นั้นหากทำการบ่มเป็นเวลานานๆ คุณภาพสบู่จะยิ่งดีขึ้นและมีฟองมากขึ้นครับ
ส่วนผสมของสบู่น้ำมันมะกอก Castile Scent Soap by Artisan Valley
1. น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ 1134 กรัม.
2. น้ำมันปาล์ม 142 กรัม.
3. น้ำมันมะพร้าว 142 กรัม.
4. น้ำกลั่น 454 กรัม.
5. โซเดียมไฮดรอกไซด์ 190 กรัม.
6. น้ำมันหอมระเหยหรือหัวน้ำหอม 40 – 60 กรัม
7. โมลด์เพื่อใส่สบู่
ขั้นตอนที่ 1
– จัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์รวมถึงสวมใส่อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยต่างๆ ให้เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 2
– นำโซเดียมไฮดรอกไซด์ละลายในน้ำ เทลงอย่างระมัดระวังและช้าๆ ลงไปในน้ำกลั่นที่ตวงมาเรียบร้อย แนะนำว่าควรใช้ภาชนะที่ไม่ทำปฏิกิริยาเคมีเช่น แก้วทนไฟ หรือ สแตนเลส เมื่อใส่ครบแล้วให้คนจนละลายหมด รอให้เย็นจนอุณหภูมิถึงอุณภูมิห้อง
ขั้นตอนที่ 3
– นำสารละลายที่ผสมจากขั้นตอนที่ 2 มาเทลงในน้ำมันมะกอกที่เราเตรียมไว้อย่างระมัดระวังและช้าๆ ภาชนะที่ใช้ควรเป็นภาชนะที่ไม่ทำปฏิกิริยาเคมีเช่นเดียวกับข้อ 2 คนหรือใช้เครื่องช่วยตีผสมจนเกิดปฏิกิริยา Saponification สังเกตได้จากน้ำมันมะกอกรวมกับสารผสมข้นหนืดเล็กน้อยสีที่ได้จะเป็นสีเหลืองออกเขียว การเกิดปฏิกิริยา Saponification จะเกิดช้ามากๆ โดยปรกติต้องคนไปเรื่อยๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง เมื่อสิ้นสุดกระบวนการโดยไม่เหลือน้ำมันมะกอกที่แยกชั้นแล้ว สารทั้งหมดผสมเป็นเนื้อเดียวกันหากจะใส่กลิ่นก็ให้ใส่ในขั้นตอนนี้ได้เลย
ขั้นตอนที่ 4
– นำเนื้อสบู่จากขั้นตอนที่ 3 เทใส่ในโมลด์ กระแทกโมลด์ไล่อากาศ คลุมด้วยผ้าห่อทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน โดยให้เช็คความแข็งตัวเปิดดูจากผ้าที่ห่อไว้เป็นระยะๆ แต่อย่าเปิดบ่อยจนเกินไป
ขั้นตอนที่ 5
– เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือนสบู่จะแข็งเป็นก้อนให้นำออกจากโมล์ดและหั่นแบ่งเป็นก้อนตามต้องการ นำสบู่ทั้งหมดมาไว้ในสถานที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่มีแสงแดดส่องถึง ไม่ชื้นและไม่ร้อนจนเกินไป บ่มทิ้งไว้เป็นเวลา 1 ปี สบู่สามารถใช้ได้เมื่อผ่านไปประมาณเดือนครึ่ง แต่มักจะไม่ก่อฟองและเสียสภาพได้ง่าย สบู่ Castile ที่ดีควรบ่ม 1 ปี จึงจะมีประสิทธิภาพการก่อฟองและคงตัวสูง
Fig. 8 Making Soap!
ข้อดีของสบู่นี้นอกจากจะสร้างความชุ่มชื้นบำรุงผิวแล้ว น้ำมันมะกอกยังสามารถสร้างฟิล์มบางๆ ป้องกันมลภาวะจากภายนอกได้อีกด้วย ในขณะเดียวกันฟิล์มบางๆ จากน้ำมันมะกอกนี้ยังพิเศษกว่าฟิล์มชนิดอื่นๆ คือไม่อุดตันรูขุนขน ไม่ขัดขวางการขับเหงื่อและการทำงานโดยธรรมชาติของผิวทั้งหมดอีกด้วย น้ำมันมะกอกสามารถรักษาสิวได้ด้วยการปรับสภาพผิว วิตามิน E ที่สูงโดยธรรมชาติบำรุงผิวได้ดี ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้จึงทำให้สบู่ Castile Soap เป็นของทรงคุณค่าที่เคยนิยมในสังคมชั้นสูงของยุโรปในอดีต หากใครพอมีเวลาก็ลองทำดูนะครับแล้วถ้ากรุณาแบ่งให้ผมด้วยก็จะขอบพระคุณมากครับผม