Perfume Expired
10
“จริงหรือไม่ที่น้ำหอมมีวันหมดอายุ”
20 Dec. 2017
น้ำหอมที่ซื้อมาหมดอายุรึยัง?
นี่คงจะเป็นคำถามโลกแตกอีกอย่างหนึ่งของคนใช้น้ำหอม…..
ในวันนี้ผมจะมาแนะนำเครื่องมือดีๆ ที่เอาไว้ใช้เช็คอายุของน้ำหอม(รวมถึงเครื่องสำอางอื่นๆ ด้วย) และจะมาไขข้อข้องใจเชิงทฤษฏีให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องหมดอายุของน้ำหอมว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเยี่ยงไร น้ำหอมหมดอายุได้จริงหรือไม่? รอช้าอยู่ใยไปดูกันครับ!
เครื่องสำอางโดยมากแล้วจะแจ้งวันผลิตและวันหมดอายุไว้อย่างชัดเจน หลายๆ ท่านอาจจะเคยสังเกตเห็นเครื่องหมายข้างกล่องหรือข้างขวดที่เป็นรูปฝาขวดเปิดอ้าและข้างฝามีอักษรเขียนว่า 3M บ้าง 6M บ้าง 12M บ้าง สัญลักษณ์นี้เรียกว่า Period after opening (PAO)
Fig. 1 Period after opening
ความหมายก็คือการบอกถึงระยะเวลาของเครื่องสำอางนั้นๆ หลังเปิดใช้ครั้งแรกว่าอยู่ได้นานเท่าไร ถ้า 3M ก็แสดงว่าเครื่องสำอางชนิดนั้นๆ จะสามารถใช้งานได้ดีหลังเปิดใช้ครั้งแรก 3 เดือน เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เกิดจากการคำนวณการเกิดออกซิเดชั่นและการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่อาจมีอยู่ในสภาพแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อเครื่องสำอางครับผม
แต่ทีนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าเครื่องสำอางที่ไม่เคยถูกแกะออกจากแพคเกจเลยจะไม่หมดอายุนะครับ โดยทาง EU ยังได้กำหนดลงไปอีกว่าเครื่องสำอางใดๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมาต้องมีอายุการเก็บไม่ต่ำกว่า 30 เดือน(2 ปีครึ่ง) ซึ่งลักษณะที่เราพบโดยทั่วไปจะมีอายุคร่าวๆ ดังนี้
น้ำหอม – ประมาณ 5 ปี
Skin care – ไม่เกิน 3 ปี
Makeup – 3 ปี แต่ถ้าเป็นประเภทแป้งให้เกิน 5 ปี ได้
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเราพลิกข้างกล่องดูแล้วพบว่าเครื่องสำอางชนิดนั้นๆ มีอายุนับจากวันผลิตเกินจากค่ากลางที่ EU ได้กำหนดเอาไว้ แม้จะไม่ได้ถูกแกะเลยก็ให้พึงระลึกในใจคนเดียวๆ เบาๆ ว่า “โอ้! คุณพระ มันไม่น่าใช้แล้ว”
มากมายกว่านั้นในยุคสมัยนี้ก็ได้มีการจัดทำ Website สำหรับเช็คสภาพเครื่องสำอางเอาไว้ให้คนยุคใหม่ 4.0 อย่างเราๆ โดยตัวเว็ปมีชื่อว่า http://www.checkfresh.com/
ขั้นตอนง่ายมากจนไม่รู้ว่าอธิบายไปใครจะอ่านรึเปล่า…..
- ขั้นแรกเมื่อเข้า Website ไปแล้ว ให้เราเลือกแบรนด์เครื่องสำอางที่เราต้องการเช็ค โดยในเว็ปนั้นจะมีเกือบจะครอบคลุมเว้นบ้างก็แต่แบรนด์ที่อินดี้จัดๆ เท่านั้นล่ะครับ
Fig. 2 Example checkfresh
- พอเรากรอกชื่อแบรนด์เสร็จ ช่อง Batch Code ก็จะปรากฏขึ้นมา ให้เราใส่เลข Batch Code ซึ่งมักจะติดอยู่ที่ใดที่หนึ่งของบรรจุภัณฑ์
Fig. 3 Batch Code check
- จากนั้นกด Check ก็จะปรากฏข้อมูลขึ้นมาดังรูป ว่าตั้งแต่นางคลอดออกมาจากโรงงานแล้วจนถึงตอนนี้นางมีอายุเท่าไร นางเกิดเดือนไหน ใกล้ครบรอบวันเกิดนางรึยัง? และเมื่อเทียบกับค่ากลาง(Shelf Life) นางยังสภาพดีอยู่ไหม? หรือได้เกษียณอายุไปแล้ว?
Fig. 4 Product Details
ทว่าในส่วนของน้ำหอมนั้นอาจจะแตกต่างไปเล็กน้อยสำหรับเรื่องการหมดอายุ น้ำหอมจริงๆ ไม่ได้มีวันหมดอายุ แม้ทาง EU จะกำหนดให้ว่าให้ใช้ภายใน 5 ปี หลังจากวันผลิต
จะเปรียบก็เหมือนไวน์ ที่วันเวลาที่เนิ่นนานผ่านไปเราเรียกกระบวนการว่า “การบ่ม” ในส่วนของน้ำหอมนั้นเรียกว่าการเปลี่ยนแปลงของกลิ่น กล่าวคือหลังจากผลิตออกมาแล้วน้ำหอมจะมีกลิ่นที่เหมือนเดิมไปราวๆ 5 ปี (ในกรณีที่เก็บอย่างถูกต้องไม่โดนแสงและความชื้นรบกวนด้วยนะครับ)
แต่ในบางสูตรก็อาจจะไม่ยาวนานขนาดนั้นหรือบางสูตรอาจจะมากกว่านั้น กระบวนการที่เกิดขึ้นในส่วนใหญ่จะเกิดที่ Top note เนื่องจากเป็นสารที่มีอนุภาคขนาดเล็กที่สุดในกลุ่มของกลิ่นและระเหยได้ง่าย บางกรณี Top Note อาจจะลดความรุนแรงลงหรือเปลี่ยนแปลงไป
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะเกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องไปถึงกลิ่นอื่น ในการทำน้ำหอมนอกจากชนิดของสารแล้ว ปริมาณก็เป็นอีกส่วนที่ทำให้กลิ่นเปลี่ยนไป เมื่อน้ำหอมที่เก็บไว้นานมีการระเหยของ Top Note ไปบางส่วน เท่ากับว่าปริมาณของสารบางตัวน้อยลง ส่งผลให้สารอื่นเกิดปฏิกิริยาในรูปแบบอื่นที่แตกต่างจากสูตรเดิมได้
บางครั้งเราพบเจอกลิ่นใหม่ที่ดีกว่า หลายๆ ครั้งเราพบว่ามันไม่น่าดมเลย แต่ความน่าตื่นเต้นนี้กับกลายเป็นเรื่องสนุกของนักสะสมน้ำหอมวินเทจ มันเหมือนการได้สมบัติชิ้นใหม่เมื่อเราค้นพบว่าน้ำหอมธรรมดาๆ ที่เราเก็บไว้ได้พัฒนากลายเป็นกลิ่นที่ล้ำลึก แต่ก็อาจจะร้องไห้ได้เป็นวันๆ ถ้าเราพบว่ากระบวนการที่เราเฝ้าดูจากน้ำหอมตัวหนึ่งมาห้าถึงหกปีดันกลายเป็นกลิ่นตลกๆ ไปซะได้\
Fig. 5 Perfume Vintage illustration
ความไม่แน่นอนของสูตรนี้เองทำให้น้ำหอมแต่ละตัวมีความแตกต่างกัน บางตัวเก็บนานดี บางตัวเก็บนานไม่ดี ซึ่งจะให้เปรียบน้ำหอมก็เหมือนอาหาร ทุกสูตรย่อมเป็นอิสระต่อกันจะใช้บรรทัดฐานอันเดียวกันมาตัดสินนั้นไม่ได้
น้ำหอมก็เป็นเหมือนคน ในบางมุมมองมีคาแรคเตอร์มีลักษณะเด่นด้อยของตนและมีการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาที่ไม่เหมือนกันรวมถึงการเข้ากันของน้ำหอมกับเคมีในมนุษย์ ความยุ่งยากเหล่านี้เองทำให้เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเล่นน้ำหอมครับ
สรุป – น้ำหอมนั้นหากต้องการใช้และกลิ่นยังเหมือนเดิมควรเก็บโดยหลีกเลี่ยงแสงอาทิตย์ เก็บในที่แห้งปราศจากความชื้น อุณหภูมิโดยเฉลี่ยไม่เกิน 35 องศาเซลเซียส การที่เก็บน้ำหอมไว้นานเกินไปกลิ่นจะเปลี่ยนแปลง แต่หากมีความพอใจในการเปลี่ยนแปลงนั้นก็สามารถนำมาใช้ต่อได้ไม่มีปัญหาครับ
ขอขอบคุณ
http://www.checkfresh.com