Folk Wisdom
12
“สารหอมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น”
28 Dec. 2017
กลับมาเรื่องงานสกัดสารหอมกันบ้างดีกว่าครับ
หลังจากเข้ากรุงเข้าห้างก็เปลี่ยนบรรยากาศกลับมาเข้าหาชาวบ้านเพื่อไม่ให้ดูว่าเป็นคนติดหรูดูแพงจนเกินไป พอดีมีพี่ๆ ในกลุ่มธุรกิจภาคเหนือส่งข่าวมาบอกว่ามีพี่ชาวบ้านท่านนึงตั้งใจสกัดสารหอมอย่างเอาจริงเอาจังฟังดูน่าสนใจก็เลยตัดสินใจขับรถตะลอนๆ ไปดูครับ
พี่ท่านนี้ชื่อพี่มิวครับเป็นชาวไร่ชาวสวนอยู่ใน จ.เชียงราย กว่าจะหาบ้านพี่มิวเจอก็ขับมุดวนในหมู่บ้านถามร้านขายของชำ ถามเด็กแถวนั้น ถามพระ ถามยาย ถามๆ ไปจนได้เบาะแสสุดท้ายว่าหน้าบ้านพี่มิวจะปลูกดอกดาวเรืองเยอะมาก “ไอ้หนุ่มเอ้ยไม่ต้องคิดมาก เอ็งขับๆ ไปบ้านไหนหน้าบ้านเหลืองกว่าเพื่อนก็นั่นแหละ”
ถือเป็นการไกด์ทางที่ Simple is the best มากครับเพราะหน้าบ้านพี่มิวนี่โดดเด่นเป็นสง่าแยงตามาตั้งแต่สองร้อยเมตรที่เลี้ยวเข้าซอย มั่นใจว่าไม่ผิดก็ถือวิสาสะขับรถเข้าไปจอด พอพบกับกองต้นตะไคร้หอมกับหม้อกลั่นแรงดันขนาดใหญ่ก็ยิ่งมันใจครับว่าไม่ได้มาผิด
Fig. 1 พี่มิวกับผลงานสารหอม
เราคุยกันหลายเรื่องแต่เอาเป็นว่าผมตัดประเด็นไปละกันเพื่อไม่ให้ยืดยาว ปัญหาที่พบก็ยังคงเป็นเรื่องเดิมๆ การสกัดสารหอมในล๊อตขนาดเล็กยังมีต้นทุนที่สูง สารหอมของพี่มิวมีราคาสูงกว่าราคาตลาดก็จริงอยู่ นี่ถึงขนาดว่าพี่มิวลงทุนปลูกเองไม่ได้รับซื้อใดๆ จากใครแล้ว หนทางที่ทำให้พี่มิวยังมีรายได้จากการสกัดสารหอมคือเลือกสกัดเฉพาะสารหอมที่ไม่มีขายทั่วไปในตลาด(แต่ก็แพงจังเลย) อย่างพวกพืชตระกูลว่าน, ไพล, และสมุนไพรไทยเป็นหลัก
เหตุผลก็เพราะว่าพวกนี้สกัดง่ายกว่าดอกไม้และยังมีตลาดสปากับยาดม, ยาอม, ยาหม่องรองรับ มาดูในมุมของน้ำหอม ก็จริงอยู่ว่ากลิ่นแต่ละตัวนั้นน่าสนใจ แต่หลักๆ เลยคาแรกเตอร์กลิ่นของพืชพรรณไทยเรากลิ่นค่อนข้างแรงถึงแรงมาก ก็ยังขบคิดอยู่ว่าการจะทำให้มันลงตัวกลมกล่อมนั้นจริงๆ แล้วควรนำมาร่วมกันอะไรประมาณไหน เพราะตัวที่สวยๆ อย่างกระดังงา, จำปา, จำปี ก็โดนเอามาเล่นจนเบื่อไปหมดแล้ว
Fig. 2 ตะไคร้หอมปลูกเองของพี่ิมิว
แต่ผมสนุกนะครับที่ได้พูดกับพี่มิว คือความจริงแล้วพี่มิวไม่ได้มีต้นทุนอะไรเลย ฐานะก็ธรรมดาแถมประสบปัญหาชีวิตมากมาย หม้อกลั่นนั้นก็ได้จากพี่สาวที่ซื้อมาตอนแรกเอามาไว้ใช้อบพืชอบผักฆ่าเชื้อโรค ซึ่งพอกิจการเลิกไปก็เลยยกให้พี่มิว ความรู้ของพี่มิวจริงๆ ก็มาจากตำรา “สุคนธบำบัด” เล่มหนาๆ เล่มเดียวที่หาซื้อได้ตามศูนย์หนังสือจุฬาฯ แต่ความรู้ที่มากกว่าคือพี่มิวได้จากการสังเกตุสิ่งรอบตัว
จะโชคดีหน่อยก็ตรงที่ว่าแถวบ้านพี่มิวมีพืชพรรณให้เล่นเยอะแยะมากมายโดยที่ไม่ต้องสั่งจากต่างถิ่นหลายๆ แหล่ง อันไหนได้ผลยังไงก็จดๆ ไว้
Fig. 3 หม้อกลั่นระบบแรงดันของพี่มิว
ผมอึ้งอยู่หน่อยๆ ที่ความรู้พี่มิวดันตรงกับที่ผมไปถามจากตามแลปต่างๆ โดยที่พี่มิวไม่ได้มีแลป เช่น พี่มิวรู้ว่าสารหอมอย่างตะไคร้หอมมีกลิ่นคล้ายฟีโรโมนของแมลงวันทองตัวเมีย จึงสามารถเอามาใช้ไว้ล่อแมลงวันทองตัวผู้เพื่อตัดวงจรการขยายพันธุ์ของแมลงวันทองที่ชอบมาเจาะกินผลไม้ได้ อันที่จริงนี่เป็นงานวิจัยระดับโครงการหลวงเลยทีเดียวครับ ซึ่งสารที่ว่านี้ชื่อ Isoeugenol แต่พี่มิวรู้จากการสังเกตุ พี่มิวรู้การทำปฏิกิริยาการละลายของ พิมเสน, การบูร และเมนทอล ปรกติแล้วสารสามชนิดนี้จะอยู่ในสถานะผงหรือผลึก ทว่าทันทีที่สารสามชนิดนี้มาอยู่ร่วมกันในสัดส่วนที่พอเหมาะจะเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว และมีปฏิกิริยาให้ความเย็นสดชื่นใช้เข้าตำรับยานวดต่างๆ ได้…..
Fig. 4 การทำปฏิกิริยาระหว่าง พิมเสน การบูร และเมนทอล
เรื่องสารกันเสียจากธรรมชาติ การใช้โรสแมรี่แทนสารกันบูด หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมกันระหว่างสารหอมของใบไทม์, โรสวูดและดอกจำปา ซึ่งเป็นการทำ Sub compound ที่ให้ประสิทธิภาพเป็นสารกันเสียที่ดีกว่าการใช้เคมีอันนี้แบบว่าลึกซึ้งเลย…..แต่ทว่ากลิ่นจะแรงหน่อยไม่น่าใช้แต่เหมาะมากสำหรับคนที่ชอบอะไรแนวธรรมชาติบำบัดและไม่ซีเรียสเรื่องกลิ่น
การสกัดสารหอมไม่ใช่เรื่องง่ายพี่มิวเล่าให้ฟังว่า เขามีเครื่องไอน้ำแรงดันเครื่องเดียวไม่ใช่ว่าสกัดได้ทุกอย่าง การจะทำอย่างจริงจังต้องมีเครื่องหลายชนิด ไม่ใช่ว่าอะไรก็ได้โยนลงเครื่องแล้วก็ต้มๆ กลั่นๆ มันก็ไม่ใช่ อย่างมะกรูด ถามว่าใส่เครื่องกลั่นไอน้ำได้ไหมมันก็ได้อยู่แต่ผลที่ออกมาจะได้สารหอมที่กลิ่นเปรี้ยว ซึ่งไม่แสดงความเป็นมะกรูดที่ดีออกมา พอวางกับส้มหรือมะนาวบางทีแยกไม่ออก เพราะสารของมะกรูดบางตัวก็เสียสภาพเมื่อโดนความร้อน ถ้าจะให้ดีโบราณก็บีบคั้น แต่ยุคปัจจุบันตามโรงงานเขาจะใช้เครื่องสกิด
กล่าวคือเป็นเครื่องหม้อหมุนได้ที่ข้างในจะมีเข็มเล็กๆ เยอะมาก ก็โยนส้มโยนมะกรูดลงไปหม้อก็จะหมุนเหวี่ยงมะกรูดให้ไปโดนเข็มสกิดผิว พอผิวถูกสกิดก็จะมีสารหอมซึมออกมา เครื่องแบบนี้ก็จะเหมาะกับพวกสารหอมบนเปลือกผิว
ถ้าดอกไม้ก็ไปอีกเครื่องหนึ่งอะไรประมาณนี้ คือพี่มิวก็ขับรถโตโยต้าคันเก่าๆ ของแกนั่นแหละครับไปดูของคนอื่นไปทั่ว แต่ก็ทำเท่าที่ทำได้ที่เหลือก็เป็นเพราะใจรัก ถึงแม้ไม่ได้เป็นคนใช้น้ำหอมแต่หลงรักเรื่องราวของสมุนไพรและภูมิปัญญาพื้นบ้าน
Fig. 5 พึ่งกลับจากการไปตัดตะไคร้หอมจากไร่
ไปๆ มาๆ ก็ทำให้คิดว่าบางทีเราก็มองภาพมุมเดียวมากไป ในเส้นทางอื่นเขาอาจจะไม่ได้เดินเหมือนเราแต่ทุกคนก็รักและหวงแหนในสิ่งเดียวกันก็เป็นอีกเรื่องดีๆ นะครับที่ทำให้ผมได้เห็นอะไรใหม่ๆ ในบรรยากาศใหม่ๆ และได้คิดต่อยอดไปอีก มันดูเหมือนมีอะไรให้ทำที่เป็นแรงบันดาลใจมากกว่าต้องทำเพราะต้องทำหรือเพราะปัจจัยบังคับอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นแรงผลักดันที่ดี ไว้มีอะไรน่าสนใจจะมาเล่าสู่กันฟังอีกนะครับผม
We are searching for new discoveries in art, scent and filling techniques in the perfumery –We fall in love with an artisanal perfume.