25
“ใครๆ ก็อยากได้น้ำหอมติดทน แล้วเราต้องทำยังไง?”
10 October 2024
HIGHLIGHTS:
– กลิ่นแต่ละโทนมีความติดทนไม่เท่ากันโดยธรรมชาติ
– ง่ายที่สุดของการเพิ่มความติดทนคือเพิ่มปริมาณหัวน้ำหอม
– ถ้าน้ำหอมแอลกอฮอล์ติดไม่ทนลองเลือกใช้น้ำหอมสูตรน้ำมัน
– อย่าโทษน้ำหอมอย่างเดียวผิวของเราก็สำคัญ
– เลือกใช้น้ำหอมไม่ถูกกับสภาพอากาศก็อาจติดไม่ทน
– สารบางอย่างโดน ฝน ฟ้า อากาศ แดดร้อนก็สลายแล้ว
– สารติดตรึงมีหลายประเภทเลือกใช้ให้ถูก
น้ำหอมกลิ่นนี้ติดทนไหม? กลายเป็นคำถามยอดฮิตก่อนพิจารณาซื้อ
ยุคนี้ทุกคนต่างมีรูปแบบชีวิตที่เร่งรีบการฉีดเติมน้ำหอมระหว่างวันจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้น ผู้คนมักจะคาดหวังในการฉีดน้ำหอมหนึ่งครั้งก่อนออกจากบ้านและใช้ชีวิตได้ทั้งวัน ซึ่งคุ้มค่าเงินแถมยังสะดวกสบายอีกด้วย
ในอดีตกลิ่นหอมแต่ละรูปแบบมักจะมีลักษณะเฉพาะที่ปรับเปลี่ยนได้ยากเช่นกลิ่นตระกูล ซิตรัส, ดอกไม้ เหล่านี้จะมีการติดทนที่น้อยโดยธรรมชาติ กระทั่งเมื่อโลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมสารสังเคราะห์รวมถึงเทคนิควิธีทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าทำให้นักปรุงน้ำหอมสามารถดัดแปลงสูตรให้มีความติดทนมากยิ่งขึ้น ในบทความได้รวบรวมปัจจัยที่ทำให้สูตรน้ำหอมติดทนไว้ให้ศึกษาดังนี้
รูปแบบของกลิ่น
ความสามารถในการระเหยของน้ำหอมนั้นมีไม่เท่ากัน กลิ่นที่หนาหนักมักอ้อยอิ่งอยู่บนผิวได้มากกว่ากลิ่นที่โปร่งโปร่ง ในการพิจารณาแรกเริ่มจึงควรเข้าใจขีดจำกัดโดยรวมของรูปแบบกลิ่นที่กำลังจะสร้างขึ้นมา ซึ่งเมื่อเทียบกับ Fragrance Wheel แล้วสามารถแยกประเภทของกลุ่มกลิ่นหนักและเบาได้ดังนี้
กลุ่มกลิ่นหนัก
- Floral Oriental
- Soft Oriental
- Oriental
- Woody Oriental
- Woods
- Mossy Woody
- Dry Woods
กลุ่มกลิ่นโปร่ง
- Aromatic
- Citrus
- Water
- Green
- Fruity
- Floral
- Soft Floral
การแก้ปัญหาเบื้องต้นของนักปรุงกลิ่นจึงมักจับคู่กลุ่มกลิ่นต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อทดแทนจุดด้อยของแต่ละกลุ่มกลิ่น เช่น Woody Aromatic, Floral Oriental เป็นต้น
ปริมาณหัวน้ำหอม
เราคงจะเคยได้ยินคำว่า EDC, EDT, EDP ในฉลากน้ำหอม แท้จริงแล้วนี่คือการบอกปริมาณหัวน้ำหอมในสูตรซึ่งสอดคล้องโดยตรงกับความติดทน
ปริมาณน้ำหอมยิ่งมากก็ยิ่งติดทนในขณะเดียวกันราคาก็จะยิ่งสูงเพราะต้นทุนหลักของการทำน้ำหอมคือหัวน้ำหอมนั่นเอง
สูตรน้ำหอมโดยปรกติจะมีแอลกอฮอล์เป็นตัวช่วยในการกระจาย พื้นฐานทางเคมีที่ง่ายที่สุดในการทำให้ติดทนคือการลดการกระจาย ในที่นี้ก็คือลดปริมาณแอลกอฮอล์นั่นเอง ส่วนที่หายไปจากการลดสัดส่วนแอลกอฮอล์ก็นำไปทศเพิ่มในส่วนของหัวน้ำหอมแทนภาพรวมที่ออกมาจะทำให้น้ำหอมมีกลิ่นหนาหนักขึ้น อ้อยอิ่งอยู่บนผิวมากขึ้น
รูปแบบสารละลาย
ปัจจุบันจะพบเห็นน้ำหอมในท้องตลาดที่มีสูตรที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ให้เลือกใช้ก็คือน้ำหอมสูตรน้ำมันและน้ำหอมสูตรน้ำ รูปแบบเหล่านี้แท้ที่จริงถูกออกแบบมาเพื่อผู้ที่มีผิวแพ้แอลกอฮอล์ต่อมาพบว่าเมื่อเปลี่ยนสารละลายทำให้น้ำหอมติดทนมากขึ้นด้วย
สารละลายแต่ละชนิดมีค่าการกระจายตัวไม่เท่ากันด้วยเหตุนี้จึงส่งผลกับภาพรวมของสูตรน้ำหอม ข้อพิจารณาในการเลือกใช้น้ำหอมเหล่านี้อยากให้ดูคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์มากกว่าการติดทนเพราะหากไม่เข้าใจอาจก่อให้เกิดปัญหาจากการใช้งานได้ เช่น น้ำหอมสูตรน้ำมันอาจทำให้เสื้อผ้าเป็นรอย การเก็บรักษายากกว่าเนื่องจากหัวสเปร์ยอาจอุดตันได้ง่าย หรือแม้กระทั่งสูตรน้ำเองก็จะมีการกระจายตัวที่ต่ำมาก การเก็บรักษาก็ยากกว่าสูตรน้ำมันและสูตรแอลกอฮอล์
สภาพผิว
เรามักจะฉีดน้ำหอมลงบนผิวกายเพื่อให้ตัวหอม ผิวของมนุษย์มีของเหลวที่เป็นส่วนประกอบหลักคือน้ำและไขมันในผิว ของเหลวทั้งสองนี้สามารถทำปฏิสัมพันธ์กับน้ำหอมได้ดีเนื่องจากคุณสมบัติส่วนใหญ่ของหัวน้ำหอมก็เป็นองค์ประกอบของน้ำมัน น้ำ และแอลกอฮอล์
ผู้ที่มีผิวแห้งมักฉีดน้ำหอมแล้วกลิ่นมักจะจมเนื่องจากผิวดูดซับน้ำและน้ำมันไว้ขณะเดียวกันผู้มีผิวมันกลิ่นน้ำหอมจะติดทนและฉุนแรงกว่าปรกติ เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินว่าผิวแบบไหนเหมาะกับน้ำหอมแบบไหนเพราะในความเป็นจริงสภาพผิวไม่ได้แบ่งแยกที่แห้งหรือมัน รายละเอียดของผิวมนุษย์ซับซ้อนกว่านั้น ข้อมูลนี้ทำได้แค่เป็นเพียงคำแนะนำซึ่งท้ายที่สุดการตัดสินใจจำเป็นต้องทดลองน้ำหอมกับผิวของเราเองก่อนเท่านั้น
อย่างไรก็ตามหากมีสุขภาพผิวที่ดีน้ำหอมก็จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นการบำรุงผิวสำหรับคนใช้น้ำหอมจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ
สภาพแวดล้อม
การกระจายตัวของน้ำหอมไม่ได้เป็นไปตามความสามารถของแอลกอฮอล์และการแผ่พุ่งของหัวน้ำหอมเพียงอย่างเดียว สภาพแวดล้อมเองก็สำคัญ
ปัจจัยที่มักจะกระทบต่อการแสดงตัวของกลิ่นน้ำหอมโดยตรงคือ ความชื้นในอากาศและอุณหภูมิ
ความชื้นหรือละอองน้ำเล็กๆ ในอากาศมีความสามารถจับตัวกับแอลกอฮอล์ได้ง่าย รูปแบบนี้ทำให้แอลกอฮอล์ที่โอบอุ้มน้ำหอมมาด้วยลอยตัวได้ยากขึ้นเป็นเหตุให้กลิ่นมักไม่ฟุ้งกระจาย
เรามักจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรสำหรับการฉีดน้ำหอมในวันที่ฝนตกหนัก การเลือกใช้น้ำหอมในพื้นที่ชื้นอับจึงต้องพิจารณากลิ่นที่ไม่หนาหนักมาตั้งแต่ต้น สำหรับอุณหภูมิร้อนก็มักจะเป็นตัวเร่งการกระจายที่ดี น้ำหอมที่โปร่งเบาลอยตัวได้ดีในอากาศก็มักจะโดนเร่งการกระจายมากกว่าปรกติ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนแปรผันโดยตรงกับความติดทนของกลิ่นน้ำหอม นักปรุงน้ำหอมเองก็ควรคาดคะเนให้ดีเรื่องสูตรกับสภาพอากาศในภูมิภาคนั้นด้วย
เสถียรภาพของสูตร
เรื่องที่มือใหม่ในการทำน้ำหอมมักจะมองข้ามคือเสถียรภาพของสูตร เป็นคนละเรื่องกับความสามารถในความติดทนของสารหอม สารธรรมชาติบางตัวมีความติดทนสูงแต่เสียสภาพได้ง่ายดังนั้นหากกลิ่นเหล่านี้โดนแสงแดดรบกวน โดนออกซิเจนในอากาศทำปฏิกิริยาก็อาจจะเสียสภาพเดิมทำให้คุณสมบัติของกลิ่นเดิมเปลี่ยนไป
ถ้าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมการทำสูตรน้ำหอมก็จะเป็นไปตามอุดมคติ กล่าวคือการคำนวณค่าความติดทนค่าความแรงใดๆ จะทำงานได้ตามคาดหมาย แต่เรื่องจริงคือสภาพแวดล้อมในการใช้งานของน้ำหอมเต็มไปด้วยตัวก่อกวนที่จะทำให้โครงสร้างของน้ำหอมเสียสภาพได้ตลอดเวลา นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ปัจจุบันบรรดาโรงงานน้ำหอมมักจะถูกบังคับให้เติมสารเพิ่มเสถียรภาพลงในสูตรน้ำหอม เอาเข้าจริงสำหรับสูตรที่มีเสถียรภาพต่ำมากๆ สาร Antioxidant เองก็อาจจะช่วยไม่ได้ทั้งหมด ในการทำสูตรน้ำหอมยุคปัจจุบันจึงมักนำสารสังเคราะห์ที่มีเสถียรภาพสูงมาร่วมในสูตรทดแทนสารจากธรรมชาติหลากหลายตัว
สารติดตรึง
นับเป็นเทคนิคที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดสำหรับการเติมสารช่วยเพื่อให้กลิ่นน้ำหอมติดทน การใช้งานสารติดตรึงเหล่านี้จะต้องรู้จักประเภทของสารก่อนจึงจะเลือกใช้ได้อย่างถูกต้อง เพื่อความเข้าใจง่ายปัจจุบันนิยมจัดแบ่งหมวดสารติดตรึงไว้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1.Non-volatile substances
กลุ่มสารที่มีการกระจายตัวต่ำและมีความสามารถในการลดการกระจายตัวของทั้งสูตรแบบองค์รวม สารกลุ่มนี้คือกลุ่มขององค์ประกอบคล้ายไขมันซึ่งนิยมใช้มาตั้งแต่การทำน้ำหอมยุคโบราณ เช่น ไขชะมดเช็ดที่ใส่ในตำหรับน้ำปรุง Ambergris จากปลาวาฬสเปิร์มที่ใส่ในน้ำหอมราคาแพง หรือที่รู้จักกันดีอีกชนิดก็คือมักส์ที่ได้จากกวางมักส์ รวมถึงยางไม้บางชนิดอย่าง Labdanum ก็สามารถใช้เพื่อการติดทนได้เช่นกัน
2.Arbitrary fixatives(Long Lasting)
การกระจายตัวเป็นคุณสมบัติเฉพาะของสารระเหยซึ่งโดยปรกติเมื่อผสมกันมักจะส่งผลกระทบกับการกระจายตัวของสารอื่นๆ ในสูตรด้วย แต่จะมีสารบางประเภทที่มีความติดทนเฉพาะตัวเท่านั้น เช่นกลิ่นแพทชูลี่ที่สามารถแสดงตัวได้ตั้งแต่กลิ่นเปิดจนถึงกลิ่นท้ายในขณะที่กลิ่นอื่นๆ จางหายไปแล้ว กลิ่นไม้แซนดา กลิ่นโอ๊คมอส ข้อสังเกตง่ายๆ คือสารเหล่านี้มักจะมีจุดกำเนิดมาจากแก่นไม้หรือมาจากสัตว์แต่จะไม่มีสถานะเป็นของเหนียวข้นหรือเป็นยางเหมือนสารติดตรึงกลุ่มแรก ในปัจจุบันเริ่มมีการสังเคราะห์แยกแบบเจาะจงลงไปเพื่อราคาที่ดีกว่าเช่น Patchoulol(องค์ประกอบจากแพทชูลี่), Evernyl(องค์ประกอบจากโอ๊คมอส) เป็นต้น
3.Exalting fixative (Enhance Note)
มีความคล้ายคลึงกับสารติดตึงกลุ่มแรกที่มีการติดทนด้วยตัวเองและยังเพิ่มความติดทนให้กับโครงสร้างอื่นๆ แต่ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือสารกลุ่มนี้จะเลือกเพิ่มความติดทนให้แก่กลุ่มกลิ่นบางกลุ่มเท่านั้น เช่น วานิลลาทำให้ความหวานโดยรวมติดทนมากขึ้นแต่ไม่ได้มีผลอะไรกับกลิ่นเปรี่ยวหรือโทนดอกไม้ กลิ่นตระกูล Balsam ที่ดึงกลิ่น Spicy, Woody ให้อยู่นานมากขึ้น
ถ้าเป็นสารจากธรรมชาติข้อสังเกตที่ง่ายที่สุดคือสารเหล่านี้มักจะเกิดจากวัตถุดิบที่อยู่ในรูปแบบเมล็ด แต่สำหรับปัจจุบันสารกลุ่มนี้มักจะพบในกลุ่ม Musk สังเคราะห์ซะเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการใช้ Musk สังเคราะห์จะมีความเหมาะสมแค่กับบางโทนกลิ่น ด้วยเหตุนี้การเลือกใช้ Musk สังเคราะห์ให้เหมาะสมกับสูตรจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สูตรน้ำหอมบางสูตรมี Musk สังเคราะห์อยู่หลากหลายตัวเพราะแบ่งหน้าที่กันทำงาน
4.So-called fixatives (Not a Fixative)
จุดเริ่มต้นแท้จริงของสารกลุ่มนี้คือใช้ในวงการเครื่องสำอางและเครื่องอุปโภคที่มีการใช้กลิ่นหอม แนวคิดของสารตรึงกลิ่นกลุ่มนี้คือการเปลี่ยนแปลงสภานะสารซึ่งแน่นอนว่าจะเกี่ยวเนื่องกับการกระจายตัวโดยตรง ง่ายที่สุดเช่นการเปลี่ยนสูตรจากน้ำหอมแอลกอฮอล์เป็นน้ำหอมสูตรน้ำมัน การกระจายตัวและความติดทนย่อมเปลี่ยนไป
สำหรับกลุ่มสารที่ใช้ในเครื่องสำอางไม่นิยมนำมาใช้กับน้ำหอมโดยตรงเนื่องจากจะต้องมีความร้อนในขั้นตอนผสมซึ่งน้ำหอมอ่อนไหวกับความร้อน ในปัจจุบันมีการพัฒนาสารติดตรึงแบบ So-called fixative ให้ใช้ง่ายมากขึ้นเช่น Thixenerx, Hercolyn D
ข้อควรระวังอย่างหนึ่งสำหรับการใช้สารกลุ่มนี้คือเนื้อสัมผัสของน้ำหอมจะเปลี่ยนไป เราอาจรู้สึกเป็นฟิล์มใสๆ บนผิว มีความวาวๆ หรือผิวมันๆ ร้ายที่สุดคือรู้สึกเหนอะหนะได้ ข้อน่ากังวลอีกเรื่องคือสารกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพค่อนข้างรุนแรงการปรับสัดส่วนที่ไม่พอดีอาจทำให้น้ำหอมไม่ฟุ้งกระจายเลยก็เป็นได้
ข้อแนะนำสารติดตรึง
ต้องแยกประเภทสารติดตรึงให้ถูกต้องก่อนนำไปผสม สารติดตรึง 3 ประเภทแรกถือว่าอยู่หมวดเดียวกับวัตถุดิบทำน้ำหอมเนื่องจากมีกลิ่นเฉพาะของตัวเอง การเลือกใช้จึงต้องอยู่ในข้อพิจารณาของการผสมกลิ่นให้เป็นไปตามโจทย์ หลายๆ ครั้งพบว่านิยมแยกสารตรึงกลิ่นมาใส่ทีหลังซึ่งมีกลิ่นไม่ตรงกับโจทย์หวังแค่ให้น้ำหอมติดทนอย่างเดียวผลลัพธ์ที่ได้คือน้ำหอมกลิ่นเพี้ยน คาว ใช้งานได้ไม่ดี
ถ้าอยากเติมสารติดตรึงทีหลังการทำสูตรน้ำหอมโดยที่ไม่กระทบรูปแบบกลิ่นให้เลือกสารติดตรึงประเภทที่ 4 (So-called fixatives) แต่ก็ต้องคาดคะเนปริมาณให้พอเหมาะพอสมมิเช่นนั้นน้ำหอมก็อาจจะไม่ส่งกลิ่นออกมากลายเป็นปัญหาใหญ่กว่าเดิมได้อีก
เรื่องที่ควรคำนึงถึงอีกเรื่องคือสูตรน้ำหอมที่มีสารติดตรึงในปริมาณสูงก็จะมีอายุการหมักน้ำหอมนานตามไปด้วย สรุปง่ายๆ ว่าน้ำหอมที่ติดทนมากในการผลิตก็ต้องหมักนานกว่าน้ำหอมปรกติซึ่งต้นทุนทางเวลานี้เองก็เป็นเรื่องสำคัญที่นักทำน้ำหอมต้องคิดวิเคราะห์ให้ดี
ถึงแม้ว่าความติดทนจะเป็นข้อกังวลของผู้ใช้ ทว่าเราในฐานะผู้ปรุงน้ำหอมก็อยากแนะนำให้ทุกคนมองมุมอื่นๆ ของน้ำหอมบ้าง
ทั้งเรื่องของ โน๊ตที่น่าสนใจ รูปแบบการกระจายตัว ความสวยงามของกลิ่น ความเป็นเอกลักษณ์ของกลิ่น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมามีความสำคัญไม่แพ้กัน หรือในบางครั้งน้ำหอมนั้นอาจจะมีแคมเปญที่ดี ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ใช้วัสดุทดแทนย่อยสลายง่ายก็น่าสนับสนุน อยากให้ทุกคนมีความสุขกับการทำน้ำหอมและใช้น้ำหอมนะครับ
สามารถรับฟังแบบคลิปได้ที่: https://www.facebook.com/PerfumeArtisanValley/videos/174893708980710
บทความโดย: Artisan Valley
เรียบเรียงโดย: ฉัตรนิธิศวร์ จันทาพูน
ตรวจทานโดย: กนกรักษ์ บุญรัตน์