อนาคตของธุรกิจน้ำหอม
20
“สอดส่องนวัตกรรมใหม่ของกลิ่นหอมผ่านการประชุม World Perfumery Congress 2018”
11 July 2018
HIGHLIGHTS:
– Perfumery congress จัดทุกๆ 2 ปี เป็นงานสำหรับคนทำงานด้านกลิ่นและรสชาติโดยเฉพาะ
– มีการ Train Perfumer โดย Master Perfumer Workshops จาก Perfumer อาวุโสซึ่งจัดขึ้นปีนี้ปีแรก
– จุดประสงค์หลักคือการแลกเปลี่ยนความรู้และหารือการนำเสนอเทรนด์ใหม่ๆ ของน้ำหอมในอนาคต และการนำเสนอวัตถุดิบ ผลงานรวมถึงงานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับน้ำหอมของ House และ Lab ต่างๆ
__________________________________________________________________________________________
เราอาจจะคุ้นเคยกันดีกับงานแสดงศิลปะเชิงกลิ่นหรืองานประกวดน้ำหอมต่างๆ อย่าง FIFI Awards, ESXENCE หรืองานอินดี้อย่าง The Art and Olfaction Award แต่สำหรับคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการทำกลิ่นและรสชาตินั้นจะพลาดงานสำคัญอีกงานนี้ไม่ได้เด็ดขาดคือ World Perfumery Congress
สำหรับงานนี้จะไม่ได้เปิดให้คนใช้น้ำหอมทั่วไปได้เข้าชมแต่อย่างใด สำหรับผู้ที่เข้าชมนั้นล้วนแล้วแต่เป็นบุคลากรในอุตสาหกรรมการทำกลิ่นและรสชาติ หากใครได้ลองเข้าไปดูคลิปการนำเสนองานอาจจะดูเหมือนว่างานจัดดูเงียบๆ ก็เพราะว่าแท้ที่จริงแล้วในโลกนี้มีบุคลากรที่เป็นคนทำงานด้านกลิ่นและรสชาติอยู่ไม่มากนั่นเอง เคยมีการจัดสถิติในไม่กี่ปีก่อนนับคร่าวๆ แล้วบุคลากรทางด้านการทำกลิ่นและรสชาติในโลกเรามีอยู่ราวๆ แค่สี่ร้อยกว่าคนเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามคำกล่าวของสุคนธกรรุ่นเก๋าที่อยู่กับบ้าน Guerlain มานานก่อนจะออกมาทำแบรนด์ตัวเองจนตลาดประเทศดูไบแทบแตกอย่าง Roja Dove ที่เคยกล่าวไว้ว่า “แม้กระทั่งปัจจุบันนักบินอวกาศก็ยังมีจำนวนมากกว่าคนทำกลิ่น”
World Perfumery Congress จะมีกำหนดการจัดขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยมีเจ้าภาพใหญ่คือ Perfumer&Flavorist ซึ่งเป็นบริษัทสื่อที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการทำน้ำหอมและรสชาติโดยตรง จุดประสงค์หลักคือการแลกเปลี่ยนความรู้ การหารือเพื่อนำเสนอเทรนด์ใหม่ๆ ของกลิ่นในอนาคต รวมถึงการนำเสนอวัตถุดิบ ผลงานวิจัยเกี่ยวกับสารหอมของแลปต่างๆ ซึ่งในปีนี้ถูกจัดขึ้นที่ประเทศแม่คือประเทศฝรั่งเศส
ถ้าเรามองเผินๆ คงไม่รู้สึกว่างานนี้เป็นงานเกี่ยวกับน้ำหอมสักเท่าไร เพราะบรรดาสิ่งที่นำมาโชว์ล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบ สารเคมี อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ การจัดบูธก็เหมือนแลปเคมีเสียมากกว่าความหรูหราฟู่ฟ่าอย่างที่หลายคนวาดฝันไว้ อย่างไรก็ตามงานนี้เองกลับเต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านรสชาติและกลิ่นมารวมตัวกันซึ่งนานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง การที่ผู้มีชื่อเสียงในวงการมารวมกันนั้นสาเหตุหนึ่งก็คือการมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับคนทำงานในรุ่นหลัง ซึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมที่เคร่งครัดซึ่งทำกันมาตลอด ทุกๆ ท่านก็จะมีหัวข้อเฉพาะที่เตรียมมาขึ้นพูดตามช่วงเวลาต่างๆ ตลอดทั้งงานสลับสับเปลี่ยนกันไป สำหรับประเทศไทยเราเองก็มีคุณ ภิสสรา อุมะวิชนี หรือ พี่พลอย DUSITA ที่ได้มีโอกาสไปร่วมงาน อันที่จริงแล้วผมก็ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลจากคุณพลอยนี่แหละครับจึงสามารถพอเรียบเรียงเนื้อหามานำเสนอให้อ่านกันได้ คุณพลอยใจดีครับพอไปเจอคนไทยท่านอื่นในงานด้วยก็ยิ่งดีใจกันเข้าไปใหญ่ เห็นได้ชัดเลยว่าคนไทยอยู่ที่ไหนก็รักกันครับ
ก่อนที่ผมจะเข้าสู่เนื้อหาเชิงเทคนิคเรามาดูกันสักหน่อยว่าทำไมเราจึงต้องสนใจสารหอมใหม่ๆ เทคนิคใหม่ๆ ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันก็มีสารหอมเยอะแยะมากมายจนใช้ไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว มันไม่ใช่แค่เรื่องกระแสหรือแฟชั่นแน่ๆ เพราะอันที่จริงแล้วการจับคู่สารในลิสต์รายการปัจจุบันก็เพียงพอกับทุกแนวทางอย่างครอบคลุม แต่ปัญหาหลักคือการจำกัดการใช้สารจาก IFRA(The international fragrance association) ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่จะคอยค้นคว้าถึงอันตรายจากการใช้สารหอมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค
เราจะพบว่าการอัพเดทข้อมูลสารต่างๆ ของ IFRA มีอยู่อย่างต่อเนื่องตามงานวิจัย ทุกๆ ครั้งที่พบถึงความเสี่ยง IFRA ก็จะจัดประเภทสารต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับคือ
1. Prohibited – ห้ามใช้
2. Restrict – มีข้อจำกัดในการใช้
3. Specification – มีคุณสมบัติที่ต้องพึงระวัง
เมื่อ IFRA ประกาศข้อห้ามใดออกมาหากใครอยากได้มาตรฐานเพื่อความสะดวกในการส่งออกไปค้าขายในวงกว้างก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด บางครั้งสารที่ถูกประกาศห้ามใช้ก็ถือเป็นสารหลักที่ใช้ในการทำกลิ่นนั้นๆ ทางผู้ผลิตก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาสารอื่นมาทดแทน ในกรณีนี้เองจึงเป็นหน้าที่ของแลปหรือ House ต่างๆ ได้มีโอกาสนำสารปรุงแต่งเลียนแบบมานำเสนอการใช้แทนในหลายๆ แบบตามแต่ละเทคนิคของตน สำหรับ House ที่เป็นเสาร์หลักของวงการในโลกนี้ก็จะประกอบไปด้วย Firmenich, IFF, Givaudan, Takasago และ Symrise แต่ในปัจจุบันก็ยังมีแลปและ House เล็กๆ เกิดขึ้นอีกมากมายทำให้วงการมีความคึกคักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
___________________________________________________________________________________________
Workshop
เราอาจจะคุ้นเคยกันดีสำหรับ Workshop เกี่ยวกับน้ำหอมที่ตอนนี้ก็มีอยู่มากมายในหลายประเทศ แต่สำหรับงาน World Perfumery Congress นั้นจะมี Workshop พิเศษซึ่งไม่ใช่การฝึกอบรมสำหรับเด็กใหม่หรือแค่ผู้สนใจ แต่เป็นการฝึกสำหรับผู้ที่เป็น Perfumer แล้วเท่านั้น ผู้ดูแลการสอนในปีนี้คือบรรดาเหล่าสุคนธกรอาวุโส อาทิเช่น Jean-Claude Ellena หรือ JC Ellena ผู้เป็นคนปรุงน้ำหอมให้แบรนด์ Hermes, Frédéric Malle, Bulgari และแบรนด์อื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน สำหรับ JC Ellena ยังมีอีกแง่มุมที่น่าสนใจนั่นก็คือเป็นผู้นำเสนอแนวทางใหม่ให้กับวงการน้ำหอม Minimalist สไตล์ที่ว่าก็เป็นที่นิยมมากๆ ในปัจจุบัน
ใน Workshop นี้ JC Ellena ได้ถ่ายทอดแนวคิดและเทคนิคในการทำกลิ่นในแบบฉบับบของเขาแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วม จะสังเกตว่าสำหรับผู้มีประสบการณ์สูงจะมีทัศนคติในการทำงานที่น่าสนใจ อย่าง JC Ellena เองก็ไม่ได้มองว่าน้ำหอมเป็นน้ำหอม ในการทำงานเขาได้บรรยายกลิ่นต่างๆ เปรียบเทียบไว้กับธรรมชาติได้อย่างน่าสนใจดั่งเช่นตัวอย่างประโยคข้างใต้นี้
“I feel a white rose in my garden, it has a slight smell of raspberry, lipstick. As it is early morning, it also has the smell of dew. I add to my composition the dew, the freshness of the dawn and the whiteness of the petals (with a red rose it would have been different). In fact, I only feel the picturesque and I am only at the level of smell, it is not yet a fragrance.”
JC Ellena
นอกจากนี้ยังมี Workshop จากท่านอื่นที่น่าสนใจอีกตลอดงานตามหัวข้อดังนี้
– The Past, Present, & Future of Signature Perfume Ingredients
– Sillage in Fine Fragrance
– Navigating a Career in Perfumery
– A Brand New Key to Create the Perfume of Tomorrow
– A World Tour Through Scent
___________________________________________________________________________________________
Based Perfume by Symrise and De Laire
แม้ว่าในงานจะเต็มไปด้วยวัตถุดิบมากมายจาก House น้อยใหญ่ แต่ทุกๆ ครั้งก็จะมีดาวเด่นเกิดขึ้นเสมอ เริ่มจากบริษัทผลิตสารหอมชั้นนำของประเทศเยอรมันอย่าง Symrise ถ้าใครได้ติดตามงานแสดงน้ำหอม The Scent ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศดูไบเมื่อต้นปี 2018 คงจะพอทราบบ้างแล้วว่าทาง Symrise มีการพัฒนา Based น้ำหอมขึ้นมาใหม่ 5 Based ถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจจะงงว่า Based น้ำหอมคืออะไรใช่ Based Note หรือ Bottom Note เหมือนที่คุยๆ กันหรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่แต่ก็ใกล้เคียงครับ
ถ้าพูดถึง Based Perfume คงต้องขอยกเครดิตให้แบรนด์ De Laire สำหรับแบรนด์นี้มีอายุอานามราวๆ 140 ปี มาแล้ว ความน่าสนใจของแบรนด์ De Laire คือมุ่งผลิตสารประกอบหรือ Based Perfume สำหรับทำน้ำหอมให้บรรดา Perfumer ต่างๆ แท้ที่จริงแล้ว Based Perfume ก็เหมือนการนำสารหอมต่างๆ มาร้อยเรียงกันให้ลงตัวที่สุดแล้วสามารถเอาไปแต่งกลิ่นเพิ่มอีกนิดหน่อยแล้วกลายเป็นน้ำหอม จะว่าไปมันก็เหมือนการช่วยย่นเวลาในการพัฒนาสูตรและลดต้นทุนในการจ้างบุคลากรไปได้อยู่มากโข ความน่าสนใจของ Based Perfume คือมันได้ถูกจัดองค์ประกอบให้สนับสนุนโน้ตต่างๆ ของกลิ่นไว้อย่างลงตัว กล่าวคือมันจะไม่ทำปฏิกิริยาเปลี่ยนกลิ่นไปมากมายเมื่อต้องเข้าร่วมกับสารหอมอื่นที่เราเอามาเติมแต่ง แต่จะสนับสนุนให้กลิ่นดีขึ้นโดยรวม การที่เรียกว่า Based Perfume อีกสาเหตก็คือโดยมากแล้วมันเกิดจากการจัดสูตรในส่วนฐานของกลิ่นและเปิดเผยให้สามารถแต่งเติมได้เพิ่มในส่วนกลางและกลิ่นบน เราจึงมักพบว่าในฐานกลิ่นล่างของน้ำหอมหลายตัวมีแนวโน้มที่กลิ่นจะคล้ายๆ กัน สำหรับรุ่นแรกๆ ของ De Laire จะออกไปแนว Amber เป็นกลิ่นหลักๆ แต่ถึงกระนั้นการใช้ Based Perfume ก็ไม่ได้ง่ายไปเสียทั้งหมด รูปแบบการจัดการกลิ่นจะถูกเปิดเผยให้กับเฉพาะลูกค้า กลยุทธ์ในการใช้เครื่องมือ Based Perfume นี้ก็มีการวางแนวทางเฉพาะไว้เช่นเดียวกับการตั้งสูตรน้ำหอม
Based Perfume เป็นที่นิยมมากในการทำน้ำหอม มีหลายๆ กลิ่นที่ใช้ Based Perfume จาก De Laire พอจะเปิดเผยได้บางส่วนคือ Chanel 19, Mitsouko Guerlain, Nuit de Noel Caron, Bouquet de Faunes Guerlain เป็นต้น สำหรับปี 2018 ปัจจุบันแบรนด์ De Laire กลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Symrise และในปีนี้ก็ได้เพิ่ม Based Perfume ใหม่อีก 5 ตัวดังนี้
1. Rouge Groseile DL – เป็นกลิ่นที่มีพื้นฐานของเชอร์รี่แดงกับผลไม้ต่างๆ ผสานเล็กน้อยกับกลิ่นของดอกไม้ที่มีกลิ่นใกล้เคียงธรรมชาติมาก
2. Miel Essential DL – กลิ่นของน้ำผึ้งราคาแพงผสานกับดอกไม้ มีความหวานของวานิลลาปนอยู่ โดยรวมให้ความรู้สึกของความเปล่งประกายสีทองและนุ่มนวล
3. Amber 84 DL – ส่วนตัวเข้าใจว่าเป็นกลิ่นที่พัฒนาจาก Based Perfume ตัวดังในอดีตอย่าง Amber 83 แต่ดูเหมือนว่า Amber 84 DL จะมีความต่างอยู่มากเพราะในรุ่นนี้มีการนำเสนอไปแนวทางของ Gourmand อย่างเต็มรูปแบบ แต่จากข้อมูลก็ยังกล่าวว่ามีความวาวใสแบบ Amber อยู่เหมือนเดิม
4. Cuir Velours DL – Based Perfume ตัวนี้แปลกเพราะเป็น Based ที่ให้กลิ่น Leather แต่ไม่มีกลิ่นของ Animalic ผสมอยู่อย่างที่เราคุ้นเคย ในคำอธิบายใช้คำว่า Nude Leather แถมยังมีการผสมกับกลิ่น Powder และ Floral ร่วมด้วยนับว่าเป็น Based ที่น่าสนใจมากๆ ตัวหนึ่งเลยทีเดียว
5. Noir Prunol DL – สำหรับ Based Perfume กลิ่นนี้ถือว่าเป็น Based ที่มีความติดทนนานที่สุดในบรรดา 5 ตัว กลิ่นหลักเป็นกลิ่น Plum แต่นอกนั้นผมเองก็ไม่คุ้นกับกลิ่น แต่ดูจากชื่อแล้วมีความรู้สึกว่าน่าจะเป็น Based ที่มีความหนักและอวลอยู่พอสมควรเลยทีเดียว
จาก Based Perfume ทั้ง 5 ตัว ของ De Laire อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นการเพิ่มทางเลือกใหม่ของวงการน้ำหอมเลยก็ว่าได้ เราจะเห็นว่า Based ทั้งห้ามีแนวกลิ่นที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจนแถมมีการพัฒนาให้เข้ากับแนวทางใหม่ๆ ในปัจจุบันอย่างครอบคลุม คาดว่าอีกไม่นานเราคงได้เห็นบรรดาแบรนด์ใหญ่มีการเปิดตัวไลน์น้ำหอมใหม่กันอีกมากมายในอนาคตอย่างแน่นอนครับ
ถึงแม้ว่า De Laire จะเป็นผู้ผลิต Based Perfume มาเป็นเจ้าแรกๆ แต่ในปัจจุบันตาม House ทั้งหลายก็เริ่มมี Based Perfume ของตัวเองแล้วด้วยเช่นกัน
สำหรับสารหอมบางตัวกว่าจะถูกนำออกมาวางจำหน่ายอาจต้องใช้เวลาทดลองกันถึง 12 ปี ในปี 2018 นี้เองทาง Symrise ได้ประกาศวางจำหน่ายสารหอมตัวใหม่อีกหนึ่งตัวคือ Symroxane สำหรับสารหอมตัวนี้เป็นที่น่าสนใจมากเพราะเป็นกลิ่นที่ใกล้เคียงธรรมชาติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โทนกลิ่นเป็น Earth Tone ที่มีภาพพจน์ของป่าไม้ต้นไม้ ความสดชื่นของอากาศฉ่ำๆ ความนุ่มละมุนละไมราวสำลีเป็นจุดร่วมที่ดีมากๆ ของกลิ่นเชิงสังเคราะห์ที่ให้อารมณ์ไม่สังเคราะห์เหมือนที่เรามักจะร้องหยีกัน
___________________________________________________________________________________________
New Raw Material
ทางด้านฟากฝั่งของ IFF(International Flavors & Fragrances) เองถึงแม้จะมาไม่เยอะแต่ก็มีการนำเสนอสารหอมชนิดใหม่ที่เกิดมาเพื่อตอบโจทย์ตลาดได้อย่างน่าประทับใจ สารหอมที่ว่านี้คือ Aquaflora – Flora aquatic aldehyde ซึ่งถ้าพูดถึงโทนกลิ่นฉ่ำชื้นกับดอกไม้เราคงนึกถึงบรรดาดอกบัวและน้ำลอยดอกไม้ทั้งหลาย แน่นอนว่ากลิ่นดอกบัวเป็นอะไรที่แพงมากจึงทำให้เราพบเห็นน้ำหอมโทนดอกบัวในตลาดได้ไม่มากนัก การจะทำกลิ่นเลียนแบบดอกบัวและกลิ่นน้ำลอยดอกไม้ก็ต้องผสมสารหอมหลายหลากชนิดซึ่งก็ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ดูเหมือนว่าอนาคตข้างหน้า Aquaflora น่าจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหากลิ่นโทนนนี้ได้ไม่มากก็น้อย
นอกจาก Aquaflora ทาง IFF เองก็ยังมีสารหอมน่าสนใจมานำเสนออีก 2 ตัว คือ Oakwood CO2 ซึ่งเป็นการสกัดกลิ่นด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดจนเกิดโทนกลิ่น Smoky ในรูปแบบใหม่ ส่วนอีกตัวคือ Lavandin Enfleurage เป็นการสกัดลาเวนดินด้วยวิธีสกัดเย็นจึงทำให้กลิ่นที่ได้มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก ส่วนตัวมีความรู้สึกว่าทาง House หลักรุ่นเก๋าอย่าง IFF และ Givaudan มีนโยบายที่คล้ายกันคือการแสวงหาความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุดซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับยุคสมัยปัจจุบันที่ทุกคนต่างใส่ใจกับธรรมชาติ
___________________________________________________________________________________________
Oud แสนแพงกับการแก้ปัญหาจาก Firmenich
Oud หรือ Agar Wood แค่ได้ยินชื่อก็ทำให้กระเป๋าสั่นระรัว ไม้กฤษณาขึ้นชื่อมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ในเรื่องความหอมล้ำลึกเปรียบดั่งราชาของไม้หอมและแน่นอนว่าราคาของน้ำมันกฤษณาไม่ว่าจะพันธุ์อะไรก็ล้วนแล้วแต่แพงมหาศาลแทบทั้งสิ้น แน่นอนว่าบรรดา House น้อยใหญ่ต่างก็ต้องดัดแปลงกลิ่นเลียนแบบเพื่อการใช้ทดแทน Oud ตัวจริง ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต่างทุ่มเททำกันมาตลอด และในปี 2018 นี้เองทาง Firmenich ก็ได้นำเสนอ Oud Based ตัวใหม่ที่สรรสร้างโดย Fabrice Pellegrin ในนาม Oud Assafi สิ่งที่ทำให้ทุกคนต่างตกใจนั่นก็คือราคาของ Oud Assafi ซึ่งถูกเคาะออกมาตกอยู่ราวๆ 1,900 บาท ต่อ กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งโดยปรกติ 1,900 บาท หากซื้อน้ำมันกฤษณาเกรดดีๆ ตัวจริงอาจได้แค่เพียง 5 กรัม เมื่อเทียบราคากับ Oud เกรดทั่วไปในท้องตลาดที่ราคาวิ่งอยู่ระหว่าง 19,000 – 39,000 บาทต่อกิโลกรัม แล้วถือเป็นการทุบสถิติทางราคาได้อย่างสิ้นเชิง
นอกจากนั้น Firmenich ก็ยังมีสารหอมตัวใหม่ที่น่าสนใจอีกตัวคือ Hivernal Neo สำหรับตัวนี้มีกลิ่นแทนดอก Lilly of The Valley หรือ Muguet ความแปลกใหม่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาคือความหอมเย็นขึ้น เราจึงรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นโทนกลิ่นสะอาดสดชื่นในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งอาจเป็นการเปิดแนวทางใหม่สำหรับกลิ่นเพิ่มได้อีกในอนาคต
___________________________________________________________________________________________
House เล็กๆ กับการแข่งขันที่ไม่กลัว House ใหญ่ในอดีต
ความน่าสนใจอีกอย่างของงาน World Perfumery Congress คือการปล่อยของจากบรรดา House โนเนมทั้งหลาย ซึ่งหลายๆ House ก็มีทีเด็ดที่เหนือความคาดหมายจนบางที House ใหญ่อาจจะหมองไปเลยก็ได้
เริ่มจาก Mane ที่เป็น House หนึ่งซึ่งมีประวัติยาวนานและมักอยู่เบื้องหลังงานสำคัญต่างๆ อยู่เสมอ สำหรับปีนี้ Mane ดูค่อนข้างมีผลงานให้เลือกชมหลากหลาย ทีเด็ดอยู่ที่ Based Perfume ตัวใหม่ 2 ตัวอย่าง Gnidia และ Four Corners ซึ่งมีโทนกลิ่นผสมระหว่าง Gourmand กับ Flower ที่ประหลาดแต่น่าสนใจมาก การนำเสนออีกซีรี่ห์หนึ่งซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 4 กลิ่น เป็นการสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยเลือกเจาะจงเฉพาะถิ่นทำให้ได้คาแรคเตอร์ใหม่ที่น่าสนใจอย่างเช่น Forest Pepper, Driftwood เป็นต้น
ในฟากฝั่งของ House ใหม่ๆ ก็มีการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจอย่างเช่น BASF เองก็นำเสนอสารหอมใหม่ 2 ตัว คือ Dihydrorosan ถ้าใครชอบกลิ่นโทนสดชื่นมักจะหนีไม่พ้นสารหอมเจ้าประจำตระกูล Dihydro ซึ่งตัวที่รู้จักกันดีก็คือ Dihydromyrcenol ที่เป็นโทนกลิ่นของเบอร์กามอทในแบบสดชื่นๆ เท่ห์ๆ สำหรับ Dihydrorosan เป็นกลิ่นของ Bergamot ที่ผสานกับ Flora ซึ่งแน่นอนว่านอกจากความสดชื่นแล้วเรายังจะได้กลิ่นของดอกไม้หอมๆ ปนออกมาอีกด้วย สำหรับสารหอมอีกตัวของ BAFS คือ Pyranyl Acetate ย้อนไปดูสักหน่อยว่าสมัยก่อนถ้าเราอยากได้กลิ่นมิ้นห์หอมๆ ก็คงไม่พ้นการใช้สารหอมเย็นๆ พวก Menthone, Mentol ผสมกับนู่นนิดนี่หน่อย แต่สุดท้ายเราก็รู้สึกว่ามันปลอม เนื่องจากเย็นไปบ้างหวานเลี่ยนไปบ้าง สำหรับปี 2018 ทาง BASF ให้คำยืนยันว่า Pyranyl Acetate คือ Mint Profile ตัวใหม่ที่สามารถใช้แทนสารหอม Mint อื่นๆ ได้ทั้งหมด
ถ้ามองอดีตที่ผ่านมาสัก 50 ปี กลิ่นประเภทขนมหวานหรือ Gourmand ถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับอย่างยิ่งในการนำมาทำน้ำหอมแต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์ชัดแล้วว่ามันทำได้นะ แถมยังเป็นที่นิยมมากๆ อีกด้วย สารหอมประเภท Gourmand ที่เด่นชัดในปัจจุบันยังมีไม่มากนัก โดยมากก็จะจับคู่องค์ประกอบจากโทนกลิ่นประเภท Vanilla กับสารอื่น ในปีนี้แม่ใหญ่อย่าง Givaudan เองก็หันไปเปิด Project Delight ซึ่งเป็นการทำสารหอมเลียนแบบขนม, อาหาร ต่างๆ เช่นกัน
สำหรับน้ำหอมมีการนำเสนอทางเลือกใหม่ของกลิ่นตระกูล Gourmand ด้วยสารหอมที่ชื่อว่า Nuezate ซึ่งเป็นผลงานของทางบริษัท Bedoukian Research สารหอม Nuezate เป็นกลิ่นโทน Gourmand อย่างชัดเจนโดยที่ไม่ต้องผสม กลิ่นโทนหลักคือ Hazelnut และมีการสนับสนุนของกลิ่นกาแฟ , ผลไม้, ชะเอม และเปลือกไม้
___________________________________________________________________________________________
New Technology and Techniques
การกลั่นน้ำมันหอมระเหยนั้นเทคนิควิธีการเองก็เป็นสิ่งสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของขั้นตอนเราก็อาจจะได้ผลลัพธ์แตกต่างกันไปอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งแนวคิดนี้เองทำให้ทาง Barosyl Ylang Ylang ที่มุ่งเน้นเรื่องกลิ่นดอกกระดังงาเป็นหลักได้ทำการแยกย่อยเกรดของน้ำมันดอกกระดังงาโดยเทียบจากระยะเวลาการกลั่น ซึ่งใช้ทฤษฎีที่ว่ายิ่งสารหอมโดนความร้อนนานๆ ความสดใหม่และเหมือนธรรมชาติก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้นการกลั่นด้วยเวลาที่สั้นที่สุดย่อมได้น้ำมันหอมที่มีกลิ่นใกล้เคียงธรรมชาติที่สุดแต่ก็แลกกับปริมาณที่น้อยจนน่าใจหาย Barosyl Ylan Ylang นำเสนอน้ำมันหอมระเหยกระดังงาโดยเกรด Extra จะกลั่นแค่ 1 ชั่วโมง เกรด 1 กลั่น 3 ชั่วโมง เกรด 2 กลั่น 5 ชั่วโมง เกรด 3 กลั่น 8 ชั่วโมง และเกรดทั่วไปกลั่น 18 ชั่วโมง ตามลำดับ
ความละเอียดอ่อนของการกลั่นเรายังพบว่าในส่วนที่แตกต่างกันของวัตถุดิบก็ยังให้กลิ่นไม่เหมือนกัน ซึ่งความละเอียดละออในเรื่องรายละเอียดเช่นนี้คงหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น Hinoki Lab นำเสนอสารหอมที่กลั่นจากการแยกส่วนของไม้ฮิโนกิหรือสนไซเปรซ ไม้ฮิโนกิถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของประเทศญี่ปุ่นเพราะคนสมัยก่อนนิยมใช้มาเผาเพื่อบูชาไฟในงานพิธีต่างๆ ไม้มีลักษณะกลิ่นหอมเนื้อละเอียดสวย ไม้ฮิโนกิที่มีคุณภาพอยู่ที่เมือง Kiso เพราะว่าเติบโตบนดินที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ Omine ที่มีอายุเป็นร้อยปี ทำให้หายากและเป็นที่ต้องการของตลาดมากพอสมควร
เรามักจะมองว่าการทำกลิ่นเป็นศิลปะแต่ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมทั้งระบบ Gas chromatography, Electronic Nose และอื่นๆ ซึ่งทางบริษัท ADS จากประเทศออสเตรเลียก็ได้นำเสนอเทคโนโลยีช่วยในการผสมน้ำหอมสำหรับอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องใช้คนคอยผสมให้ เพียงแค่เราอัพโหลดสูตรลงคอมพิวเตอร์ เติมสารหอมลงในหลอดให้เต็มเมื่อเดินเครื่องโปรแกรมก็จะทำการหยดสารหอมในปริมาณที่กำหนดไว้ในสูตรไปเรื่อยๆ ใช้เวลาไม่กี่นาทีก็แล้วเสร็จสำหรับเครื่องนี้ยังไม่มีการเคาะตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่เห็นข้อมูลคร่าวๆ ราคาไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาทแน่ๆ ครับ
เรื่องสนุกอย่างหนึ่งของวงการน้ำหอมคือการพัฒนาไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้ง เราเพลิดเพลินกับการค้นพบใหม่ๆ เสมอ ทั้งคนปรุงกลิ่นและคนใช้กลิ่นต่างรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นนักผจญภัย ความตื่นเต้นเหล่านี้เองทำให้เราหลงใหลไปกับกลิ่นหอมโดยไม่รู้ตัว ขอบคุณงานดีๆ อย่าง World Perfumery Congress ที่เป็นเวทีและแรงสนับสนุนให้กับคนทำงานด้านกลิ่น ขอบคุณมิตรสหายที่แลกเปลี่ยนข้อมูลให้กันอย่างมีไมตรี โลกเราสวยงามได้ด้วยการแบ่งปันผมรักวงการนี้เพราะทุกพื้นที่ล้วนเต็มไปด้วยความสุข ยังคงเป็นกำลังใจให้ทุกคนเสมอนะครับ ขอบคุณครับ
ขอขอบคุณ
คุณ ภิสสรา อุมะวิชนี
Founder of Parfums Dusita
www.facebook.com/parfumsdusita/
Credits
wpc.perfumerflavorist.com/2018/Public/enter.aspx