เรียนรู้เรื่องเสน่ห์ผ่านกลิ่น
22
“เมื่อเราถูกถามว่ารักเค้าเพราะอะไร?”
11 November 2018
HIGHLIGHTS:
– สัญชาตญาณพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตคือการ เอาตัวรอด และ ขยายเผ่าพันธุ์
– ฟีโรโมนกับฮอร์โมนไม่ใช่สิ่งเดียวกัน
– ฟีโรโมนไม่มีกลิ่น
– ฟีโรโมนที่ใช้ในอุตสาหกรรมการทำกลิ่นไม่ใช่ฟีโรโมนที่มีผลต่อพฤติกรรมการเลือกคู่
– อวัยวะรับฟีโรโมนของมนุษย์คือ Vomeronasal organ อยู่ในโพรงจมูก
– Vomeronasal organ ของมนุษย์นั้นเสื่อมถอยจนไม่ทราบแน่ชัดว่าทำงานได้หรือไม่
– Sillage Scent คือกลิ่นสุดท้ายจากน้ำหอมที่คงอยู่บนผิวแล้วทำปฏิกิริยากับผิวของคนๆ นั้นกลายเป็นกลิ่นเฉพาะ
– ความสุขนั้นเหมือนยาเสพติด
___________________________________________________________________________________________
“You can discover more about a person in an hour of play than in a year of conversation.”
– Plato
จากคำพูดของเพลโตข้างต้นเราพบว่าเรื่องของการถูกชะตาเข้าอกเข้าใจกันแบบรักแรกพบหรือพรหมลิขิตเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน จึงไม่แปลกอะไรที่ในหลายๆ ครั้ง(โดยเฉพาะยุคที่การสื่อสารทำได้ง่ายกว่าการพบหน้า)เราจะรู้สึกสับสนกับคนที่เราคุยด้วยมาหลายปี ว่านี่ใช่ความรักจริงๆ หรือเปล่า?
หนักกว่านั้นในหลายๆ กรณีคนเราแต่งงานกันด้วยเหตุผลซึ่งมีอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมนานับประการ แล้ววันดีคืนดีก็มีใครไม่รู้เดินผ่านหน้าเราไปแต่ใจเรากลับเต้นแรงหน้าแดงอึดอัด ซึ่งในขณะเดียวกันก็เหมือนอีกฝ่ายจะรู้สึกตามไปด้วย พอได้สบตาก็เกิดภาวะที่เรียกว่า โลกหยุดหมุน แล้วทีนี้จะทำยังไง? นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแค่ในนิยายมันคือความจริงของธรรมชาติซึ่งวันนี้เราจะมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันครับ
สัญชาตญาณพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตคือการ เอาตัวรอด และ ขยายเผ่าพันธุ์ ผมเริ่มจุดประเด็นจากสองเรื่องนี้เพราะถือเป็นแก่นของเรื่องรักใคร่เสน่หาแทบจะทั้งหมด หลายๆ คนอาจจะกล่าวว่าตนเองมีสเปคของคนที่ชอบในใจ ไม่ว่าจะเป็นความร่ำรวย ความมีหน้ามีตาทางสังคม ความเรียบร้อย หรือแม้กระทั่งรสนิยมแปลกๆ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เกิดจากกระบวนการคิดซะส่วนใหญ่ ถือได้ว่าเป็นตรรกะสะสมที่เมื่อสังเกตดูมักจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาหรือยุคสมัย
แต่เคยสงสัยไหมว่าแล้วร่างกายของสิ่งมีชีวิตนั้นมีกระบวนการเลือกคู่เพื่อดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์อย่างไร?
กระบวนการนี้ถูกสร้างขึ้นมาด้วยหลักการที่ว่าทุกๆ การสืบพันธุ์จะต้องเป็นการทำให้สายเลือดของตัวเราเองพัฒนาขึ้น ร่างกายจึงต้องมีการคัดเลือกโดยธรรมชาติบางอย่างเพื่อให้แน่ใจว่าลูกของเราที่เกิดออกมานั้นจะเป็นเด็กที่แข็งแรงที่สุด
กระบวนการนี้ถูกค้นพบเมื่อ 300 กว่าปีก่อนในชื่อที่เรียกว่า Pheromone
ฟีโรโมน PHEROMONE เป็นคำที่มาจาก คำภาษากรีก 2 คำรวมกัน คือคำว่า PHEREIN ซึ่งแปลว่า นำมาหรือส่งต่อไปให้ และ HORMON ซึ่งแปลว่า ตื่นเต้น ตื่นตัว เมื่อนำมารวมกันแล้ว จึงมีความหมายว่า การนำเอาความตื่นเต้นมาให้
มักมีความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งว่าฟีโรโมนกับฮอร์โมนคือสิ่งเดียวกัน แต่ความจริงแล้วเป็นคนละอย่างกัน
ฟีโรโมน คือ สารเคมีที่สร้างจากต่อมมีท่อสามารถหลั่งออกมานอกร่างกาย แล้วมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมรวมถึงสรีรวิทยาในสัตว์ตัวอื่นที่เป็นสัตว์ชนิดเดียวกันได้ ซึ่งหากเป็นสัตว์ต่างชนิดกันฟีโรโมนจะไม่มีผลใดๆ ทั้งสิ้น นั่นก็หมายความว่าเราไม่สามารถเอาฟีโรโมนของสัตว์มาใช้เป็นยาเสน่ห์ได้แน่นอน ดังนั้นความเชื่อที่ไปล่าเอามักส์จากกวางมักส์อะไรเหล่านั้นล้วนเป็นความเชื่อที่ผิดแทบทั้งสิ้น
ส่วนฮอร์โมน เป็นสารที่สร้างจากต่อมไร้ท่อและหลั่งออกมาในร่างกายมีฤทธิ์เฉพาะในร่างกายสิ่งมีชีวิตเท่านั้น ซึ่งก็เป็นฤทธิ์เชิงกระตุ้นและส่งผลถึงพฤติกรรมกับสรีระด้วยเช่นกันแต่จะไม่สามารถส่งออกนอกร่างกายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมสัตว์อื่นได้
ฟีโรโมนมีในสัตว์แทบทุกชนิดและปรากฏชัดเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เราคุ้นเคยกันดีว่าฟีโรโมนนั้นมีหน้าที่ในการดึงดูดเพศตรงข้ามแต่ในความเป็นจริงฟีโรโมนถูกแยกย่อยลงไปอีกถึง 6 ลักษณะ คือ
- Sex pheromone – ฟีโรโมนเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม
- Alarm pheromone – ฟีโรโมนเพื่อการเตือนภัย
- Trial pheromone – ฟีโรโมนเพื่อการบอกเส้นทาง
- Queen substance – ฟีโรโมนเพื่อบอกความเป็นผู้นำ
- Aggregation pheromone – ฟีโรโมนเพื่อเรียกพวกพ้อง
- Territory pheromone – ฟีโรโมนเพื่อแสดงอาณาเขต
สำหรับมนุษย์นั้นบทบาทหน้าที่ของฟีโรโมนถูกลดความสำคัญลงไปตามวิวัฒนาการจึงทำให้เรามีส่วนเกี่ยวข้องกับฟีโรโมนน้อยกว่าในสัตว์อื่น แต่กลับกันกับสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้มีอวัยวะที่ซับซ้อนมากฟีโรโมนแทบจะเป็นสิ่งชี้นำชีวิตโดยเฉพาะแมลงต่างๆ ซึ่งจะมีการใช้ฟีโรโมนครบทั้ง 6 รูปแบบ
แท้จริงแล้วฟีโรโมนไม่มีกลิ่นแต่การที่เราได้กลิ่นนั้นมาจากการหมักหมมของเหงื่อและแบคทีเรีย ซึ่งเหงื่อของชาย และหญิงนั้นมีกลิ่นต่างกันเพราะแบคทีเรียต่างชนิดกัน
– ผู้ชายจะมีแบคทีเรียประเภท Coryneform
– ส่วนผู้หญิงจะเป็นสายพันธุ์ Micrococci
ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าฟีโรโมนในมนุษย์มีกี่ชนิด? อะไรบ้าง? แต่สารที่คาดว่าจะเป็นฟีโรโมนของเพศชาย ได้แก่ สารกลุ่ม Androstenes พบตามธรรมชาติมากบริเวณรักแร้ และ ยังพบในปัสสาวะ เลือด(ส่วนพลาสม่า) น้ำลาย และน้ำอสุจิ
สาร Androstenes เมื่อหลั่งออกมาแล้วจะถูกแบคทีเรีย Coryneform เปลี่ยนจาก androstenes androstadienol และ androstadienone ที่มีกลิ่นน้อย (และมีกลิ่นโทน musk) กลายเป็น androstenes androstenol และ androstenone ที่มีกลิ่นแรงกว่า (และมีกลิ่นคล้ายปัสสาวะ) ซึ่งสำหรับวงการน้ำหอมแล้วเราจะใช้กลิ่นในประเภทของสาร androstenol และ androstenone ซึ่งมีกลิ่นแรงพอจะนำมาเป็นส่วนประกอบในการปรุงกลิ่นสำหรับท่านชายเพราะมีความเชื่อว่ากลิ่นดังกล่าวสามารถดึงดูดความสนใจเพศหญิงได้
ส่วนผู้หญิงแบคทีเรีย Micrococci จะหมักกับเหงื่อได้สาร Isovaleric acid พบได้ตามธรรมชาติที่รักแร้และอวัยวะเพศ
Isovaleric acid เมื่อรวมกับกรดไขมันประเภท acetic, propionic,isobutyric, butyric, isocaproic ได้สารให้กลิ่น “Copulin, Estratetraenol และ Oxytocin” ซึ่งคาดว่าจะเป็นฟีโรโมนเพศหญิงและ “คาดว่ามีผลดึงดูดทางเพศ” ด้วยเหตุนี้จึงมีคนอ้างนำไปใช้ผสมในน้ำหอมมากมายแต่ก็ยังไม่มีงานทดลองใดที่ชี้ขาดว่าสารตัวนี้มีผลเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์ได้จริง…..
จากข้อความข้างต้นถ้าเราสังเกตดูดีๆ จะเห็นว่าผลผลิตของฟีโรโมนที่เราเอามาใช้ในอุตสาหกรรมทำกลิ่นล้วนแล้วแต่เป็นสารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปจากแบคทีเรียและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมาแล้วทั้งสิ้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่ากลิ่นฟีโรโมนต่างๆ แทบจะสูญสิ้นฤทธิ์ไปแล้วก็ว่าได้ แต่สิ่งที่พอจะทำได้คือการกระตุ้นภาพจำ เนื่องจากกลิ่นฟีโรโมนทั้งหลายที่ใช้กันในอุตสาหกรรมการทำกลิ่นนั้นสามารถเชื่อมโยงกับความทรงจำของมนุษย์ เช่น Androstenol อาจจะทำให้เรานึกถึงภาพผู้ชายเหงื่อไหล หรือชายนักกล้ามได้แบบลางๆ หรือ Copulin อาจจะทำให้เรานึกถึงภาพของสาวน้อยน่ารัก แต่ทว่าก็ไม่ได้เป็นการบังคับให้ชอบหรือควบคุมสติเพื่อสืบพันธุ์แบบมดหรือแมลงแต่อย่างใด…..ที่สำคัญก็ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนที่ชอบคนมีกล้ามและก็ไม่ใช่ผู้ชายทุกคนจะชอบผู้หญิงอ่อนเยาว์ ฉันใดก็ฉันนั้นการทำให้เราระลึกถึงจึงไม่ถือว่าเป็นการยั่วกามรมณ์
การรับรู้ฟีโรโมนตามธรรมชาติมีทั้งสามารถซึมผ่านผิวและสูดดม ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสัตว์ประเภทนั้นมีอวัยวะรับฟีโรโมนแบบใดอยู่ สำหรับมนุษย์อวัยวะที่ใช้ตอบรับฟีโรโมนมีเพียงการสูดดม อวัยวะนี้เรียกว่า Vomeronasal organ ซึ่งจะเป็นต่อมเล็กๆ อยู่ในโพรงจมูกหากส่องกล้องเข้าไปเราจะเห็นเป็นจุดขาวๆ คล้ายหัวสิว
Vomeronasal organ ไม่ใช่ส่วนของการรับกลิ่น ส่วนของการรับกลิ่นเราเรียกว่า Olfactory bulb(เยื่อประสาทรับกลิ่น) ซึ่งแน่นอนว่า Vomeronasal organ ไม่สนว่าอะไรจะมีกลิ่นหรือไม่มีกลิ่นแต่ทันทีที่เป็นฟีโรโมนต่อมในส่วนนี้จะทำงานทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นกระตุ้นความต้องการต่างๆ ออกมา แต่น่าเสียดายที่มนุษย์นั้นมีการเสื่อมถอยของต่อมชนิดนี้ จากการวิจัยในมนุษย์โตเต็มวัยไม่พบเส้นประสาทเชื่อมต่อกับต่อม Vomeronasal organ จึงสันนิษฐานได้ว่าการแปรผลจากการรับฟีโรโมนไม่ได้ถูกส่งไปยังสมองเหมือนตา หู จมูก มิหนำซ้ำยิ่งมนุษย์มีอายุมากขึ้นต่อมชนิดนี้ก็มีแนวโน้มจะเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆ ในการค้นคว้าจากหลายๆ แหล่งพบว่าต่อม Vomeronasal organ ทำงานได้ดีในขณะเราเป็นเด็กซึ่งพบว่ามีเส้นประสาทมาเชื่อม ทว่ามันก็ค่อนข้างสวนทางกับสิ่งที่เราคุ้นเคยว่าฟีโรโมนเป็นเรื่องของการสืบพันธุ์
ในเด็กระบบสืบพันธุ์ยังไม่เจริญการรับรู้ฟีโรโมนจึงไม่มีผลกระตุ้นใดๆ แต่ก็มีข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมว่ามันเป็นกระบวนการเพื่อเอาตัวรอดทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง เนื่องจากเด็กยังมีวิวัฒนาการทางสมองและอวัยวะอื่นไม่เพียงพอ การดมจึงเป็นประสาทสัมผัสเดียวที่ทำให้เด็กเอาตัวรอดแยกแยะความอันตรายและปลอดภัยได้ เนื่องจากกลิ่นนั้นเชื่อมโยงโดยตรงถึงสมองและจิตใต้สำนึกการดมจึงเป็นระบบรับพิเศษที่ไม่ต้องประมวลผลก็สามารถหาข้อสรุปให้กับการรับรู้ได้ เช่น รับรู้กลิ่นของอากาศหนาว กลิ่นฉุน หรือกลิ่นไหม้
การรับฟีโรโมนของเด็กในอีกมุมมองก็เป็นการทำให้รู้ว่าคนใดเป็นแม่ คนใดเป็นพ่อของตน และสร้างความผูกพันธุ์พิเศษให้กับสายใยพ่อ แม่ ลูก
ปัจจุบันเรายังไม่ทราบแน่ชัดว่ามนุษย์รับรู้ฟีโรโมนได้จริงหรือเปล่าและผ่าน Vomeronasal organ จริงหรือไม่? เรายังพบอีกว่ากว่า 50% ของมนุษย์ Vomeronasal organ แทบจะกลายเป็นอวัยวะที่ไม่ทำปฏิกิริยาอะไรเลยเมื่อเราโตขึ้น แต่ก็มีอีก 50% ของมนุษย์ที่มีการทำปฏิกิริยาเมื่อได้รับฟีโรโมน(ไม่ได้หมายถึงกลิ่นฟีโรโมนอย่าง Copulin หรือ Androstenol ที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอม) ซึ่งมีการทดลองมากมาย เช่น การทดสอบที่มีการเหนี่ยวนำให้เกิดประจำเดือนพร้อมกันในกลุ่มผู้หญิงที่อาศัยอยู่ด้วยกัน ,การจดจำของทารกโดยใช้กลิ่นของแม่, การเลือกคู่ เป็นต้น ผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังไม่เป็นแนวโน้มที่ชัดเจนในการสรุปผลถึงเรื่องฟีโรโมนต่อมนุษย์ ทว่าก็ทำให้รู้ว่าการเสื่อมของต่อม Vomeronasal organ นั้นสามารถส่งต่อไปยังกรรมพันธุ์จึงทำให้มีข้อสันนิษฐานใหม่เกิดขึ้นว่า พฤติกรรมเจ้าชู้หรือแม้กระทั่งโรคประเภทฮีสทีเรียอาจมีสาเหตุเกิดจากการไม่เสื่อมถอยของ Vomeronasal organ ก็เป็นได้?
ในมนุษย์เรานั้นทุกคนจะมีกลิ่นเฉพาะ ในศัพท์วงการน้ำหอมจะมีอยู่คำหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ Sillage Scent คือกลิ่นสุดท้ายจากน้ำหอมที่คงอยู่บนผิวแล้วทำปฏิกิริยากับผิวของคนๆ นั้นกลายเป็นกลิ่นเฉพาะ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ว่าในการเลือกน้ำหอมตามเพื่อนแล้วเราใช้เองกลับไม่หอมเหมือนเขา กลิ่นทุกอย่างนั้นทำปฏิกิริยากับสิ่งรอบข้างเสมอ บนผิวคนเรามีส่วนประกอบมากมาย ทั้งไขมัน น้ำ และของหมกหมม รวมถึงแบคทีเรียต่างๆ จึงยากมากที่จะบอกว่ากลิ่นใดเหมาะกับใคร ทางที่ดีที่สุดคือการทดสอบกับตัวเอง
กลิ่นอาจช่วยในการเลือกคู่ โดยคาดว่ากลิ่นนั้นแสดงถึงระบบภูมิคุ้มกันและสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิต ฟีโรโมนเองก็มักจะหลั่งออกมาจากมนุษย์ที่มีสุขภาพดีมากกว่ามนุษย์ที่อ่อนแอ แม้กระทั่งน้ำในช่องคลอดหรืออสุจิของผู้ชายก็มีกลิ่นที่เปลี่ยนไปตามรูปแบบการใช้ชีวิต ดังนั้นมนุษย์จึงมีแนวโน้มที่จะเลือกคู่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่างจากตนเอง มันแสดงถึงความไม่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด (Disassortative mating) และการหาสิ่งที่ขาดไปในร่างกายโดยธรรมชาติ
ร่างกายที่อ่อนแอก็มักจะหลงเสน่ห์กลิ่นของชายที่สุขภาพดีได้ง่ายเนื่องจากร่างกายกำลังบอกว่าคนคนนี้มีภูมิคุ้นกันบางอย่างที่ตัวเราไม่มี หากร่วมหอลงโรงกันแล้วลูกที่ออกมาก็จะสมบูรณ์ขึ้น หรือผู้ชายที่แข็งแรงมากๆ ห้าวหาญ บึกบึน ก็จะสนใจคนที่อ่อนโยนซึ่งเมื่อมีลูกก็จะได้ไม่มีการผลิตฮอร์โมนที่หนักไปทางใดทางหนึ่งจนเกินไปจนกลายเป็นเด็กผิดปรกติ
การตกหลุมรักใครสักคน การคิดถึงใครสักคนล้วนเกี่ยวข้องกับสารเคมีในร่างกายเราแทบทั้งสิ้น หากเมื่อร่างกายเราตอบสนองอย่างหนักว่าคนคนนี้นั้นเป็นส่วนเติมเต็มเพื่อให้ยีนส์รุ่นต่อไปพัฒนา ร่างกายคนเราก็จะถูกกระตุ้นเพื่อให้เจ้าของร่างกายเกิดพฤติกรรมสนใจและเข้าหาเป็นลำดับ ภาวะเหล่านี้เหมือนยาเสพติดกล่าวคือร่างกายจะหลั่งสารความสุขอย่างเอนโดรฟินเพื่อให้สมองเกิดภาวะจดจำว่าเมื่อใกล้คนคนนี้แล้วมีความสุข
นานๆ เข้าเราก็จะโหยหาความสุขนั้น ยามใดที่ห่างกันร่างกายก็จะกระตุ้นด้วยการลดสารแห่งความสุขลง เราก็จะเริ่มเศร้าและคิดถึง ฟังดูเป็นเรื่องโหดร้ายแต่ก็เพราะกระบวนการเหล่านี้จึงทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน
ถ้าเรื่องความรักมันง่ายโลกนี้ก็คงไม่ต้องมีคนอกหัก…..กระบวนการเลือกคู่โดยธรรมชาติในบางครั้งก็เลยเป็นเรื่องชอกช้ำมากกว่าจะเป็นความสุข
กลิ่นนั้นบอกได้แม้กระทั่งระดับสติปัญญา นิสัยใจคอ ภูมิหลังชีวิต แต่เรานั้นไม่ได้วิเคราะห์ผ่านสมอง จิตใต้สำนึกเราเป็นตัววิเคราะห์ผ่านหลายกระบวนการอยู่ตลอดเวลา ทว่าท้ายที่สุดแล้วสำหรับมนุษย์สิ่งที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจไม่ได้มีเพียงสัญชาตญาณ เรามีสมองที่ใหญ่และมีบทบาทมากกว่าสัตว์อื่นจึงทำให้เกิดกระบวนการซับซ้อนในการตัดสินใจมากกว่าสัตว์อื่น มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวที่ใช้เหตุผลข่มจิตใจได้ มันจึงทำให้เกิดคำพูดประมาณว่า “ปากกับใจไม่ตรงกัน”
เราพบว่าในทุกช่วงของชีวิตนั้นมีทางแยกให้เลือกเสมอ ซึ่งมักจะเกิดจากความลังเลระหว่างสิ่งที่เราอยากได้กับสิ่งที่เราคิดว่าดี บางครั้งสัญชาตญาณก็แม่นยำพอ แต่ในหลายๆ ครั้งเราก็พบว่าการหักห้ามใจคือสิ่งที่ดีกว่า…..
สุดท้ายแล้วไม่ว่ากลิ่นหรือฟีโรโมนจะมีผลขนาดไหนก็เป็นเพียงส่วนประกอบในการตัดสินใจของมนุษย์ ไม่มีใครบอกคุณได้ว่าการเลือกโดยธรรมชาติดีกว่าเหตุผล หรือเหตุผลดีกว่าธรรมชาติ เพราะมันไม่แน่นอนทั้งสองอย่างแต่อย่างน้อยๆ เราทุกคนต่างก็ภาวนาด้วยความหวังว่าสิ่งที่เราเลือกนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ
Credits
- http://topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2009/10/X8389326/X8389326.html
- Pause BM. Is the human skin a pheromone-producing organ? J Cosmet Dermatol. 2004 Dec;3(4):223-8
- Pause BM. Are androgen steroids acting as pheromones in humans? Physiol Behav. 2004 Oct 30;83(1):21-9
- McClintock effect (Martha McClintock, University of Chicago)
- Stern K, McClintock MK. Regulation of ovulation by human pheromones. Nature 1998;392:177-9
- Motofei IG. A dual physiological character for sexual function: libido and sexual pheromones. BJU Int. 2009 Dec;104(11):1702-8. Epub 2009 May 19
- Filsinger EE, Braun JJ, Monte WC. An examination of the effects of putative pheromones on human judgments. Ethol Sociobiol 1985;6:227– 36
- Miller SL, Maner JK. Scent of a woman: men’s testosterone responses to olfactory ovulation cues. Psychol Sci. 2010 Feb 1;21(2):276-83. Epub 2009 Dec 22