สมบัติเครื่องหอมไทยที่ทรงคุณค่า
18
“ของหายากที่น้อยคนจะรู้จัก แม้จะไม่มีคนเหลียวแลแต่ทองแท้ยังไงก็คือทอง”
19 Mar. 2018
จุดเริ่มต้นของชะมดเช็ดสำหรับผมนั้นเริ่มจากน้ำปรุง แต่อยากจะเล่าย้อนไปสักหน่อยว่าในช่วงกลางปีที่แล้วได้มีโอกาสร่วมทำจุลนิพนธ์กับน้องๆ นักศึกษาที่มหาลัยศิลปากร ในส่วนของน้ำหอมนั้นเราแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้อย่างไม่มีปัญหา แต่จุลนิพนธ์ของน้องๆ ถูกตีกลับจากอาจารย์ที่ปรึกษาเนื่องจากว่าทางอาจารย์อยากให้นำเสนอความเป็นไทยและการพัฒนาน้ำหอมไทยหรือน้ำปรุง ขอยอมรับว่าในตอนนั้นผมมีความรู้เรื่องน้ำปรุงแค่งูๆ ปลาๆ อาจจะไม่ได้มากกว่าท่านอื่นๆ เท่าไร การให้ข้อมูลจึงค่อนข้างจำกัดและดูจะไม่ค่อยเป็นประโยชน์ให้กับจุลนิพนธ์ของน้องๆ นักศึกษาเลย ถึงแม้ว่าน้องๆ จะพยายามจนปิดเล่มได้และกล่าวขอบคุณ แต่เรื่องนี้ก็หลอกหลอนใจผมตลอดมา
ผมไปซะสุดแคว้นหลายดินแดนแต่กลับลืมเรื่องใกล้ตัวไป ยิ่งได้มาฟังคลิปจากอาจารย์ ไศลเพชร ศรีสุวรรณ แล้วยิ่งสะอึก อาจารย์กล่าวในตอนท้ายของคลิปเรื่องน้ำปรุงไว้ว่า
“อยากให้เด็กรุ่นใหม่ตระหนักไว้ เราเกิดมาบนแผ่นดิน รื้อฟื้นภูมิปัญญาเก่าจากบรรพบุรุษขึ้นมาบ้าง แล้วก็สร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย ไม่ใช่รอกินแต่สมบัติบรรพบุรุษถ้าบุญเก่าหมดแล้วจะทำยังไง? เราต้องสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเพื่อคนรุ่นหลังต่อไป ใครเห็นค่าไม่เห็นค่าช่างมัน ให้สู้ต่อไปแล้ววันหนึ่งประเทศชาติจะขอบคุณเรา”
พูดถึงน้ำปรุงแล้วเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันที่จะสืบค้นตำรับที่อธิบายได้ชัดเจน การสืบทอดล้วนแล้วแต่เป็นการบอกเล่าต่อๆ กันมาแต่หากย้อนถามเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ก็ยากที่จะตอบ แต่ละวังแต่ละสำนักก็จะมีขนบยึดถือไม่เหมือนกันอีก ทว่าโดยรวมแล้วก็จะมีแก่นเหมือนๆ กันคือการร่ำ การลอยดอกไม้ แต่จะดอกอะไรบ้างนั้นก็สุดแล้วแต่จะสรรหา ทีนี้พูดถึงเรื่องการตรึงกลิ่นในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งฟากยุโรปประเทศหรือทางฝั่งบ้านเราก็ดีสารตรึงกลิ่นที่นิยมใช้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ซะเป็นส่วนใหญ่
เรารู้จักกันเป็นอย่างดีคือมักส์ที่ได้จากกวางมักส์ซึ่งไม่ใช่สัตว์พื้นถิ่นบ้านเรา เมืองไทยเรานั้นแรกเริ่มเดิมทีจะใช้สารตรึงกลิ่นที่ได้จากชะมดเช็ดเสียมากกว่า ซึ่งชะมดเช็ดเป็นสัตว์ป่าที่พบได้ทั่วไปตามป่าในประเทศไทยแถมกลิ่นที่ได้จากไขชะมดเช็ดยังหอมเย้ายวนเข้ากันได้ดีกับกลิ่นดอกไม้ไทยอีกด้วย
___________________________________________________________________________________________
ชะมดเช็ดไม่กินกาแฟ?
ในโลกนี้พบสัตว์วงศ์ชะมด 4 วงศ์ย่อย 16 สกุล 36 ชนิด ส่วนในประเทศไทยพบเพียง 4 วงศ์ย่อย 9 สกุล 11 ชนิด ถึงแม้ว่าตามธรรมชาติจะมีชะมดอยู่หลากหลายสายพันธุ์แต่ก็มีเพียงชะมดเช็ด(Small Indian Civet Viverricula india) เท่านั้นที่สามารถผลิตไขชะมดได้ โดยชะมดเช็ดที่ผลิตไขได้จะถูกแบ่งย่อยเป็นอีกสองชนิดหลักๆ คือชะมดเช็ดพันธุ์ข้างลายและชะมดเช็ดพันธุ์เครือ
ความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงคือเราเข้าใจว่าชะมดกินกาแฟแล้วเราก็เอาอุจจาระมันมาทำเป็น “กาแฟขี้ชะมด” ซึ่งความจริงแล้วสัตว์ที่กินกาแฟนั้นคือ อีเห็น แต่เรามักจะพูดติดปากว่ากาแฟขี้ชะมดทำให้เข้าใจผิดกันตลอดมา อาจจะด้วยว่าสัตว์ทั้งสองมีความละม้ายคล้ายคลึงกันและมีวงศ์สายพันธุ์ใกล้เคียงจึงทำให้มองผ่านๆ นึกว่าตัวเดียวกันก็เป็นได้ ชะมดที่ผลิตไขนั้นเป็นสัตว์กินเนื้อโดยธรรมชาติ ตามฟาร์มมักจะเลี้ยงด้วยเนื้อไก่ร่วมกับอาหารแมวแน่นอนว่าไม่มีกาแฟอยู่ในเมนู ดังนั้นเพื่อความถูกต้องให้ทำความเข้าใจใหม่ว่า “ชะมดไม่กินกาแฟแต่ผลิตไขได้ ส่วนตัวที่กินกาแฟคืออีเห็นซึ่งไม่มีต่อมผลิตไข”
___________________________________________________________________________________________
ไขชะมดไม่ใช่ฉี่ชะมดอย่างที่เข้าใจกัน
พอพูดถึงกลิ่นของสัตว์ก็จะพาลนึกถึงสุนัขที่ชอบปัสสาวะตามเสาร์ไฟฟ้าเพื่อทิ้งกลิ่นประกาศอาณาเขต ยอมรับว่าในความเข้าใจแรกผมก็รู้สึกเช่นทุกคนว่าไขชะมดคือการตกผลึกของปัสสาวะชะมดเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ สำหรับชะมดเช็ดจะมีต่อมผลิตกลิ่นซึ่งเป็นฟีโรโมนอย่างหนึ่งแยกเฉพาะต่างหาก(Perineal Gland)ซึ่งมีทั้งในตัวผู้และตัวเมีย และอวัยวะที่มีไว้สำหรับพ่นของเหลวนี้จะอยู่ใกล้ๆ ช่องปัสสาวะเรียกว่า Perineal Groove ไม่ได้ใช้ร่วมกับช่องปัสสาวะแต่อย่างใด การเช็ดป้ายของเหลวเหล่านี้ก็เพื่อประกาศอาณาเขต ป้องกันตัว และเรียกร้องความสนใจจากเพศตรงข้าม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดกลิ่นของ Civet ก็ทำหน้าที่ได้ดีอย่างยิ่ง
___________________________________________________________________________________________
การเก็บไขชะมด
ในการเก็บไขถ้าเป็นฟาร์มมักจะใช้ไม้โมกมันวางไว้ตามกรงเพื่อให้ชะมดเช็ดไข ซึ่งการใช้ไม้โมกมันจะทำให้ขูดไขได้ง่ายกว่าไม้ชนิดอื่น ขั้นตอนการเก็บถือว่าสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากไขตามธรรมชาตินั้นมีความอ่อนไหวค่อนข้างสูง ถ้าให้ดีก็ไม่ควรปล่อยไว้นานจนมีเศษดินเศษฝุ่นมาเกาะอยู่เยอะดังนั้นจึงมักจะต้องดูการเช็ดไขอยู่ตลอดแทบทุกวัน การขูดเองก็ควรจะมีความชำนาญหากขูดแรงไปก็จะติดเนื้อไม้มาด้วยแต่หากขูดเบาไปไขก็ออกมาไม่หมดและที่สำคัญวัสดุที่ใช้ขูดถ้าเป็นไปได้ให้ใช้โลหะเงินยิ่งเป็นเงินที่มีความบริสุทธิ์สูงเท่าไรก็ยิ่งจะทำให้ไขที่เก็บได้มีสีสวยมากขึ้นเท่านั้น การเก็บแบบไม่ระวังและไม่ใส่ใจจะทำให้ไขเป็นสีดำซึ่งส่งผลถึงคุณภาพกลิ่นด้วยเช่นกัน
___________________________________________________________________________________________
การเลี้ยงชะมดเช็ด
ชะมดเช็ดถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองการจะเลี้ยงต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้เลี้ยงชะมดและขอใบอนุญาตให้ชะมดแต่ละตัวที่กรมอุทยานแห่งชาติซึ่งก็มีสำนักงานอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ราคาของชะมดตกอยู่ที่ตัวละ 3,000 – 5,000 บาท อันที่จริงแล้วการขออนุญาตไม่ได้ยากมากอย่างที่คิดแต่ความยากแท้จริงคือการเลี้ยงดูชะมดเช็ดต่างหาก ชะมดเป็นสัตว์ป่าที่นิสัยขี้ระแวง ขี้กลัว ขี้ตกใจและไม่อยู่กันเป็นฝูง ด้วยความเป็นสัตว์ป่าจึงเลี้ยงอย่างไรก็ไม่เชื่อง การเลี้ยงชะมดเป็นฟาร์มต้องแยกกรงเลี้ยงเดี่ยวทั้งหมด จึงทำให้บางครั้งในสายตาผู้พบเห็นต่างบอกว่าเป็นการทารุณสัตว์ทำให้มีการออกมาประท้วงรณรงค์ไม่ใช้สินค้าที่มาจากการเลี้ยงชะมดเช็ดและอีเห็นเกิดขึ้น ทว่าในมุมมองผู้เลี้ยงแล้วจริงๆ การแยกขังเดี่ยวคือวิธีที่ดีที่สุด เพราะถ้านำชะมดมาไว้รวมกันมันก็จะกัดกันเลือดสาดตายกันเป็นว่าเล่น นั่นยิ่งจะเป็นการทารุณสัตว์มากกว่าเดิมเสียอีก
ชะมดเช็ดเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างรักความสงบและเครียดง่าย การอยู่ตัวคนเดียวในที่เงียบๆ จะทำให้เขามีความสุขที่สุด การเลี้ยงชะมดสำคัญที่สุดคือสภาพแวดล้อม ไม่ว่าด้วยเสียง อุณหภูมิ หรือกลิ่นรบกวน ทั้งหมดสามารถทำให้ชะมดกระวนกระวายใจได้ซึ่งความเครียดจะส่งผลโดยตรงถึงปริมาณไขที่ชะมดผลิต หากชะมดมีความเครียดมากอาจส่งผลให้เขาไม่ผลิตไขเลยก็เป็นไปได้
เนื่องจากชะมดมีความอ่อนไหวสูงข้อควรระวังอย่างยิ่งจึงมี 3 เรื่องคือ
1. ช่วงเปลี่ยนฤดูการ – ในการเปลี่ยนฤดูต่างๆ ชะมดมักจะต้องใช้เวลาปรับตัวและหากมีการเปลี่ยนอุณหภูมิหรือสภาพแวดล้อมที่ฉับพลันจนเกินไปชะมดอาจจะช็อคตายได้
2. ช่วงออกลูก – จริงๆ แล้วชะมดก็เป็นสัตว์ที่รักลูกหวงลูกมากเหมือนสัตว์ทั่วไป แต่ด้วยนิสัยตามธรรมชาติเราไม่ควรปล่อยลูกชะมดไว้กับแม่นานๆ หากหย่านมแล้วก็ควรจับแยกในทันที เพราะถ้าหากแม่ชะมดเกิดความเครียดสะสมก็จะทำให้กินลูกตัวเองโดยไม่รู้ตัวได้ และห้ามเด็ดขาดคือปล่อยพ่อชะมดให้เจอลูก พ่อชะมดจะหวงคู่ของตนนึกว่าลูกชะมดคือชะมดตัวอื่นที่มาแย่งคู่ก็จะทำร้ายลูกตัวเองได้เช่นกัน
3. การเปลี่ยนผู้เลี้ยง – หากเริ่มเลี้ยงชะมดแล้วคุณก็ต้องเลี้ยงเขาตลอดไป ชะมดจะไม่เหมือนอีเห็นตรงที่มีความระแวดระวังภัยสูงกว่า เขาจะกินอาหารกับเฉพาะคนที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่เกิดเท่านั้น เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญอย่างหนึ่งของชะมดสำหรับผู้เลี้ยงรายเก่าที่ไม่ต้องการเขาแล้วและขายต่อให้ผู้เลี้ยงรายใหม่ ชะมดจะไม่กินอาหารจากผู้เลี้ยงรายใหม่อย่างเด็ดขาด ดังนั้นถ้าคุณจะเลี้ยงชะมดก็ต้องตัดสินใจให้ดีๆ
___________________________________________________________________________________________
การซื้อขายไขชะมด
ราคาขายไขชะมดในไทยนั้นมีความผันผวนค่อนข้างสูง ราคากลางจะอยู่ที่ 150 – 200 บาท ต่อกรัมซึ่งเป็นไขดิบที่ยังไม่ได้สะตุ แต่ในความเป็นจริงแล้วช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราคาไขเคยตกลงไปถึงกรัมละ 50 บาท สาเหตุก็เนื่องมาจากมีการปลอมแปลงไขชะมดสอดแทรกไปกับการส่งออก บ้างใช้จาระบีผสม บ้างไม่คัดคุณภาพ ทำให้เกิดการแอนตี้ไขชะมดของไทยอยู่พักใหญ่ๆ จนปัจจุบันผู้เลี้ยงรายใหม่เริ่มมีการจับกลุ่มกันเพื่อสร้างมาตรฐานชะมดไทยขึ้นมาจึงทำให้ราคาขายเริ่มกระเตื้องขึ้นมาอีกครั้ง
ทว่าปัญหาใหญ่ๆ ของตลาดซื้อขายไขชะมดแท้จริงคือเรื่องการถูกทดแทนด้วยสารเคมี ในปัจจุบันการทำกลิ่นมีความก้าวล้ำจากอดีตอยู่เยอะมาก สารที่ให้กลิ่นของชะมดถูกทดแทนได้หลากหลาย หลักๆ จะมี Skatole เป็นหลัก และยังมีกระบวนการทำกลิ่นทดแทนเป็น Civet สังเคราะห์ ในหลายๆ รูปแบบให้พร้อมใช้งาน ซึ่งข้อดีกว่าคือเราไม่ต้องสะตุให้ยุ่งยากแถมคุณภาพคงที่ในราคาที่ใกล้เคียงของแท้ แต่ถึงอย่างไร Civet ของแท้ก็ยังมีเสน่ห์และมีความต้องการสูงในตลาดบนอยู่เช่นเดิม
___________________________________________________________________________________________
การใช้ประโยชน์ไขชะมด
ในสมัยก่อนที่วิทยาศาสตร์ยังไม่ก้าวหน้าการทำกลิ่นจึงนิยมใช้สารตรึงกลิ่นจากสัตว์เป็นหลัก หน้าที่สำคัญของไขชะมดจึงมักปรากฏร่วมอยู่กับตำรายาหอมต่างๆ ของไทยรวมถึงต่างประเทศ โดยกล่าวกันว่าเป็นวัตถุดิบสูงค่าหายาก กลิ่นของชะมดที่ยังไม่ผ่านการสะตุจะสาปเหม็นเหมือนกลิ่นสุนัขหรือสัตว์ป่า แต่เมื่อสะตุแล้วจะหอมหวานคาวเล็กน้อย เรามักจะเห็นว่าไขชะมดเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำน้ำปรุงชั้นสูง สรรพคุณของไขชะมดนั้นเป็นกลิ่นที่บำรุง หัวใจ ตับ และม้าม แก้วิงเวียนได้ดี ช่วยในระบบไหลเวียนโลหิต ช่วยในการหายใจของโรคหอบหืดและจุกเสียดหน้าอก
การสะตุแปลไทยเป็นไทยก็คือการฆ่าเชื้อ ในไขดิบเราถือสองอย่างที่เป็นสิ่งไม่ดีคือ
1. สิ่งเจือปนรวมถึงเชื้อโรค
2. กลิ่นเหม็น
หลักการสะตุคือการให้ความร้อนเพื่อละลายให้ไขกลายเป็นของเหลวแยกชั้นกับสิ่งเจือปนต่างๆ เช่นดินหรือขนสัตว์ การให้ความร้อนช่วยฆ่าเชื้อโรคและไล่กลิ่นบนที่ไม่พึงประสงค์ออกได้จำนวนหนึ่ง จากนั้นจึงกรองและนำมาใช้ได้ ตามตำราไทยนั้นจะนิยมสะตุโดยนำไขชะมดวางบนใบพลูผสมน้ำมะกรูดในไขชะมด จากนั้นนำใบพลูที่มีไขชะมดกับน้ำมะกรูดไปลนไฟ ไขจะละลายรวมกับน้ำมะกรูดและแยกชั้นกับตะกอน น้ำมะกรูดจะทำให้กลิ่นหอมใช้ง่ายรวมถึงความเป็นกรดในน้ำมะกรูดยังช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ดี ในหลายๆ ตำราจะแตกต่างกันตรงที่วัตถุดิบในการผสม โดยนอกจากน้ำมะกรูดแล้ว อาจมี หัวหอมสับ, ผงลูกจันทน์, เศษไม้จันทน์หอม จันทน์เทศ หรือใช้ผสมกับพิมเสนบดละเอียดก็สามารถดับกลิ่นคาวได้
ในน้ำหอมกลิ่นชะมดถือเป็นกลิ่นที่พิเศษและคลั่งไคล้ในชาวต่างชาติ อาจจะด้วยความเชื่อเรื่องการดึงดูดเพศตรงข้ามหรืออย่างไรก็แล้วแต่ ทว่าการทำกลิ่นผลไม้หรือดอกไม้การเติมกลิ่นสัตว์เหล่านี้เข้าไปจะช่วยให้น้ำหนักและความชัดเจนของกลิ่นดีขึ้นอย่างมาก การใช้งานเราจะใช้ไม่มาก ปรกติมักจะเจือจางก่อนใช้เพียงแค่ 5-10% และใช้เพียงไม่กี่หยด ส่วนกลิ่นหนังนั้นโทน Animalic เป็นโน้ตสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ การใช้ร่วมกับ Vanilla หรือ Woody ก็ถือเป็นสิ่งที่นิยมมากเช่นกัน
ภาพรวมในตลาดประเทศไทยปัจจุบันมีเพียงผู้ประกอบการ 2 รายใหญ่ ที่ทำธุรกิจเลี้ยงชะมดผลิตไขส่งออกเป็นหลัก ที่เหลือคือการเลี้ยงรายย่อย ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งทดแทนไขจากธรรมชาติมากมายในปัจจุบันแต่ตลาดก็ยังขาดแคลนไขชะมดของแท้อยู่เป็นจำนวนมาก ในประเทศจีนยังมีการนำไปเข้าตำรับยาจีนกันอยู่เป็นปรกติ ส่วนในทางแถบยุโรปและอาหรับก็นิยมหาซื้อไขชะมดคุณภาพดีๆ ไว้สำหรับใช้กับเครื่องหอม ปัญหาหลักของการซื้อขายแท้จริงแล้วคือเรื่องของการไว้ใจ เนื่องจากเรายังขาดหน่วยงานมาตรฐานที่เข้ามากำกับดูแลคุณภาพทั้งไขชะมดและผู้เลี้ยง จึงทำให้การส่งออกทั้งหลายเป็นไปได้ยาก ทางผู้ซื้อก็ต้องการคำรับรองอะไรบางอย่างจากผู้ขายเหมือนกันเพื่อความมั่นใจในการใช้ประโยชน์ หากเราแก้ปัญหาในจุดนี้ได้เชื่อว่าอนาคตของไขชะมดไทยยังไปได้อีกไกลครับ
ขอขอบคุณ
พี่คำมูล
พ่อเลี้ยงชะมดของโครงการพระราชดำริฟาร์มดงเย็น
พี่ไก่
สวนสัตว์เชียงใหม่
พี่ฉัตรชัย
กลุ่มชะมดอยู่ดีอีเห็นมีสุข
Facebook : www.facebook.com/ชะมดอยู่ดี-อีเห็นมีสุข