ก่อนสิ้นฤดูฝน
21
“เคยไหมที่เราได้กลิ่นของดินกลิ่นของฝนแล้วรู้สึกมีความสุข…”
25 October 2018
HIGHLIGHTS:
– Fougere คือกลิ่นที่แสดงถึงเฟิร์นแต่ความจริงแล้วเฟิร์นไม่มีกลิ่น
– กลิ่น Fougere มีโครงสร้างประกอบด้วย ลาเวนเดอร์,โอ๊คมอส,วานิลลา,ไม้และสมุนไพร
– Ozone เป็นพิษ
– สาระสำคัญที่ทำให้รู้สึกสดชื่นแบบธรรมชาติคือ Geosmin, Terpenes และ O3
– การเรียนรู้เทคนิคการทำกลิ่นเรียนได้จากธรรมชาติ
– กลิ่นที่ได้ดมบ่อยๆ จะยิ่งมีความผูกพันธ์เป็นพิเศษจนถึงระดับจิตสำนึก
___________________________________________________________________________________________
พอได้ยินข่าวว่าหน้าหนาวจะเข้ามาแล้วก็ทำให้รู้สึกใจหายอยู่หน่อยๆ ถ้าเราสังเกตให้ดีกลิ่นรอบตัวเราก็มีการผันเปลี่ยนไปตามฤดูกาล มีเรื่องราว มีการไล่ระดับไม่ต่างจากน้ำหอม ถึงแม้ว่ายุคปัจจุบันจะมีวิทยาการผลิตสารหอมออกมามากมายเพื่อเลียนแบบธรรมชาติแต่ในความเป็นจริงแล้วก็ไม่ได้ใกล้เคียงเลย ถ้าดมเพียงแผ่วผ่านมันก็เหมือนจะใช่แต่พอได้มีเวลาอ้อยอิ่งอยู่กับกลิ่นนั้นเราต่างรู้สึกว่ากลิ่นจากธรรมชาติดื่มด่ำกว่าราวกับมันมีชีวิต คำว่าชีวิตหรือจิตวิญญาณของผลงานนี่เองจึงเหมือนเป็นจุดสำคัญของศิลปินผู้รังสรรค์กลิ่นหอม
เป็นโจทย์ท้าทายกันมาตั้งแต่สมัยอดีตกาลที่ช่างทำกลิ่นจะพยายามคิดสูตรเพื่อใช้กลิ่นนั้นอธิบายถึงความสุนทรีของธรรมชาติ ดังที่เรารู้จักกันดีถึงผลงานของ อูบิกองต์ (Houbigant) ในปี ค.ศ. 1882 กับการเกิดขึ้นของกลิ่นตระกูล Fougere ที่สื่อความหมายถึง Fern ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเฟิร์นนั้นไม่มีกลิ่น ต่อมากลิ่นฟูแจร์นี้เองก็ถูกพัฒนาจนเป็นกลิ่นที่พูดถึงความเป็นป่าชื้นจนกระทั่งมาถึงกลิ่นที่มักได้ยินคนพูดถึงกันมากในปัจจุบันอย่างกลิ่น “ดิน”
การจะตั้งสูตรแนวกลิ่นที่กล่าวถึงป่าแต่เดิมเราจะขึ้นกลิ่นแบบฟูร์แจร์เป็นหลักก่อน โดยจะใช้ลาเวนเดอร์กับโอ๊คมอสตามด้วยวานิลลากับไม้และสมุนไพร จากนั้นจะบิดซ้ายบิดขวาก็ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้ทำด้วยภาพลักษณ์ของป่าคือความมากหลายซับซ้อน การทำฟูร์แจร์เลยค่อนข้างมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะกว่าจะได้เรื่องราวของป่าดีๆ สักเรื่องหนึ่ง
กลิ่นประเภทนี้แม้จะดูเป็นกลิ่นคลาสสิคแต่ก็ไม่ได้ตกยุคตกสมัยดังจะเห็นแบรนด์น้ำหอมมักจะต้องมีกลิ่นทำนองนี้ร่วมอยู่ในคอลเลคชั่นเสมอ เราปฏิเสธไม่ได้ว่ากลิ่นสมัยใหม่นั้นสดชื่นและน่าตื่นตาตื่นใจ แต่เมื่อผ่านโลกมาสักพักเราจะหันกลับมาสู่ความเรียบง่ายทว่าลึกซึ้งซึ่งถือเป็นข้อยากมากๆ สำหรับงานศิลปะ สมองของมนุษย์นั้นมีความทรงจำทับซ้อนอยู่มาก เราทุกคนต่างอาศัยอยู่ในเวลาสามช่วงคือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต สำหรับคนหนุ่มสาวมักจะใช้เวลาอยู่กับอนาคตเพื่อไขว่ค้าวไปยังความสำเร็จ ภาพจำของเขาจึงมีแต่ความสดใส ก็ไม่แปลกที่เขาจะนิยมชมชอบกลิ่นที่ใสสะอาดสุกปลั่งดังความฝันของเขา เมื่อเข้าวัยกลางคนเราต่างมีภาระมากขึ้น ความจริงจะดึงตัวตนของเราให้สนใจกับภาระและคนรอบกาย การตระหนักถึงปากท้องจึงทำให้เราใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างเร่งรัด กลิ่นทำนองที่ว่าหนักแน่นและสร้างกำลังใจจึงมักเป็นที่นิยมชมชอบ ทว่าเมื่อผ่านโลกมาเยอะแล้วเราทุกคนต่างโหยหาสิ่งที่จากไป เราเริ่มเรียนรู้การสูญเสียและการคิดถึงมากขึ้น ด้วยความหวนรำลึกนี้เองเราจึงมักมองหากลิ่นที่สื่อถึงอะไรบางอย่างในอดีต
กลิ่นทำนองนี้มักจะเป็นกลิ่นที่อยู่ในสำนึกของมนุษย์ตั้งแต่เกิด คือกลิ่นธรรมชาติรอบตัว เราไม่เคยสังเกตเลยสักครั้งว่าโต๊ะทำงานของพ่อมีกลิ่นเป็นเช่นไร?
ตราบเมื่อพ่อจากเราไปแล้ว โต๊ะนั้นบุบสลายไปแล้ว ในภวังค์หนึ่งเรากลับนึกถึงกลิ่นโต๊ะของพ่อได้อย่างน่าประหลาด เพราะแท้จริงแล้วสมองของเราบันทึกข้อความทางกลิ่นอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าเราจะสนใจหรือไม่ กลิ่นกับสมองก็คุยกันราวกับเพื่อนสนิท
ในหลักของการทำน้ำหอมนั้นจะมีกลิ่นบางจำพวกที่ควรใส่เสมอเพื่อเรียกสำนึกของคน การจำแนกกลิ่นเหล่านี้จำแนกได้โดยความถี่ของการได้กลิ่นนั้นๆ กล่าวคือกลิ่นใดที่คนได้กลิ่นเป็นประจำแม้จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวถือเป็นกลิ่นแห่งสำนึก การใส่กลิ่นประเภทนี้เพียงเล็กน้อยแม้จะเบาบางแต่ก็สามารถสร้างภาพจำทำให้คนรู้สึกผูกพันกับผลงานได้
เราจะพบว่าการทำกลิ่นที่ดีนั้นต้องมีตัวเชื่อมโยงเหมือนสะพานเพื่อให้กลิ่นมีทำนองสอดคล้องกัน ในเชิงเทคนิคเราเรียกสารหอมเหล่านี้ว่า Blender การกำหนดสารประเภทเบลนด์เดอร์โดยหลักมักจำแนกจากโครงสร้างโมเลกุลทางเคมี ความสามารถในการจับคู่ของพันธะขั้วต่างๆ แต่หลักเหล่านี้สามารถสนับสนุนให้กลิ่นดีขึ้นได้ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระตุ้นความสนใจของคนได้มากขึ้นตาม
มักจะมีคำกล่าวจากช่างทำกลิ่นอาวุโสบอกกันมาปากต่อปากว่า “ถ้าคิดอะไรไม่ออกให้ใส่ดอกกุหลาบ” ฟังโดยไม่ใส่ใจมันก็เหมือนเป็นเทคนิคง่ายๆ แต่ในถ้อยคำแถลงนั้นแท้จริงแล้วมีปริศนาซ่อนอยู่ เราอาจจะต้องย้อนมองมุมกลับสักนิดว่าทำไมต้องดอกกุหลาบ? เพราะกุหลาบมีสารหอมประเภท alcohol เยอะหรือถึงช่วยเชื่อมพันธะอื่นได้ง่าย? ถ้ามองมุมนั้นก็อาจจะถูกในเชิงเคมี แต่จริงๆ แล้วกลิ่นดอกกุหลาบนั้นถือเป็นกลิ่นสากลที่คนคุ้นเคย หากมีช่องว่างสักนิดในกลิ่นแล้วคิดไม่ออกว่าจะเติมกลิ่นอะไรการมีดอกกุหลาบช่วยเติมเต็มก็เป็นการสร้างความรู้สึกคุ้นเคยได้ไม่ยาก เพราะในความทรงจำของทุกคนล้วนมีภาพจำของกลิ่นดอกกุหลาบแทบจะชัดเจนอยู่แล้ว การใช้ความทรงจำเป็นจุดเชื่อมกลิ่นจึงเป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ช่วยได้มาก เราจะพบว่าในเชิงการค้าท้ายที่สุดกลิ่นที่ขายง่ายก็ย่อมไม่พ้นกลิ่นที่คนส่วนใหญ่รู้จัก
อีกตัวอย่างหนึ่งคือสารประเภท Linalool มีคำกล่าวว่าแทบจะไม่มีน้ำหอมใดที่ไม่มีส่วนผสมของ Linalool เราอาจจะไม่คุ้นชื่อทางเคมีของสารหอมประเภทนี้สักเท่าไร แต่ในการวิจัยได้ค้นพบว่าดอกไม้แทบทุกชนิดรวมถึงกลิ่นแทบทุกอย่างมี Linalool ผสมอยู่ไม่มากก็น้อย นั่นหมายความว่าแม้เราจะไม่คุ้นกับคำว่า Linalool แต่ในความเป็นจริงเรานั้นได้กลิ่น Linalool อยู่แทบจะทุกวัน ดังนั้นในความทรงจำระดับสำนึกเราจึงมี Linalool เป็นภาพจำที่ค่อนข้างชัดเจน
หากกล่าวโดยให้เข้าใจง่ายแล้วกลิ่นของแผ่นดินจึงน่าจะหมายถึงการประกอบร่วมของกลิ่นต่างๆ เพื่อทำให้เราระลึกถึงภาพที่ใกล้ชิดธรรมชาติได้มากที่สุด จากคำโบราณคำว่ากลิ่นดินเกิดขึ้นโดยนักวิจัยออสเตรเลียสองคนในทศวรรษ 1960 คือ อิสเบล แบร์ และ อาร์จี โธมัส พวกเขานำเอาคำกรีกสองคำมาต่อกัน คือ “petros” หมายความว่า ก้อนหิน และ “ichor” แปลว่าของเหลวที่ไหลอยู่ในเส้นโลหิตของทวยเทพ รวมกันกลายเป็นคำว่า Petrichor ทั้งสองคนอธิบายว่ากลิ่นไอดินที่ลอยขึ้นจากพื้นดินเมื่อต้องเม็ดฝนเกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สเตรปโตมายซีส (Streptomyces)
แท้ที่จริงแล้วสารหอมที่แบคทีเรียในดินปล่อยออกมานั้นมีชื่อเรียกว่า Geosmin เป็นเรื่องน่าแปลกที่มนุษย์ซึ่งถือว่ามีประสาทรับกลิ่นด้อยกว่าสัตว์อื่นกลับได้กลิ่น Geosmin ง่ายกว่าสัตว์อื่น ปัจจุบันกลิ่นดินและกลิ่นป่าต่างใช้สาร Geosmin เข้ามาเป็นส่วนประกอบแทบทั้งนั้น เนื่องจากว่าสารจำพวก Oakmoss เดิมมีการวิจัยค้นพบว่าอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังจึงถูกสั่งงดไปในหลายๆ ประเทศ การจะทำกลิ่นฟูร์แจร์แบบสูตรดั้งเดิมจึงต้องมีการประยุกต์ใช้สารเคมีมากขึ้น
การจะกล่าวว่า Geosmin เป็นตัวแทนของกลิ่นฤดูฝนเลยก็คงไม่ใช่ เพราะหากเราจับสัมผัสดีๆ เราจะเห็นว่าในกลิ่นฝนนั้นมีกลิ่นเขียว กลิ่นแวววาวและกลิ่นอื่นๆ ผสมอยู่ ความลับของธรรมชาตินี้ทำให้เราเห็นคู่ร่วมของสารหอมที่ถือเป็นอีกเทคนิคหนึ่งได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในขณะที่ฝนตกลงบนใบไม้จะสร้างความเสียหายเล็กน้อยให้กับผิวของใบ ในลักษณะนี้เกิดเป็นการกระตุ้นให้ใบไม้ส่งสารหอมประเภท Terpenes ออกมา ในอีกลักษณะหนึ่งมีการวิจัยค้นพบว่าเมื่อสิ้นฤดูแล้งฝนแรกที่เข้ามาจะไปกระตุ้นกระบวนการเมตาบอลิซึ่มที่ชะลอไว้ให้กลับมาทำงานอย่างคึกคักอีกครั้ง กระบวนแรกที่พืชเร่งการเจริญเติบโตนี้เพื่อต้อนรับฝนใหม่เราพบว่าพืชมีการปล่อยสารประเภท Terpenes ออกมาเป็นจำนวนมากราวกับพืชกำลังเฉลิมฉลอง ด้วยลักษณะกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ Terpenes นี้เองเราจึงรู้สึกสดชื่นทันทียามเมื่อเดินเข้าไปในป่าหลังฝนตก คู่ร่วมที่น่าสนใจระหว่าง Geosmin กับ Terpenes จึงเป็นอีกหนึ่งผลลัพธ์ที่เราได้เรียนรู้จากธรรมชาติ
ความลับของสายฝนอีกอย่างคือความสดชื่นที่สะอาด สาเหตุหนึ่งพายุฝนอาจจะพัดพาฝุ่นละอองออกไปได้ทำให้บรรยากาศแลดูสะอาด แต่ในเชิงของกลิ่นฝนฟ้าคะนองก็ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เกิดคู่ร่วมที่สามสำหรับกลิ่นธรรมชาติที่สดชื่นนั่นก็คือกลิ่นโอโซน แต่อยากให้จำเอาไว้ว่ากลิ่นโอโซนนั้นเป็นพิษทว่าในสภาพแวดล้อมปรกตินั้นมีโอโซนปนเปื้อนอยู่น้อยมากและอยู่ในสภาพไม่เสถียรการที่เราได้กลิ่นแวววาวคาวอ่อนๆ ในบรรยากาศกลับทำให้เรารู้สึกสดใหม่และตื่นเต้นเป็นปรากฏการณ์เชิงกระตุ้นให้ตื่นตัวเพราะกลิ่นที่วาวต่างๆ ล้วนปลุกจิตสำนึกเอาตัวรอดของมนุษย์ได้ดี
การเกิดโอโซนหลังฝนตกเกิดจากการที่ก๊าซอ๊อกซิเจนได้รับพลังงานอย่างมหาศาลจากการแล่นผ่านของสายฟ้าจัดเรียงสูตรใหม่จากโมเลกุล O2 เป็น O3 และด้วยความไม่สเถียรนี้จึงทำให้ O2 และ O3 เปลี่ยนสถานะกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็วกลายเป็นว่าทำให้เราดมกลิ่นนี้แบบติดๆ ดับๆ หรือคล้ายๆ เทคนิค Sparkling ที่ใช้กันในการทำน้ำหอมซึ่งกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นได้ดี
กล่าวโดยสรุปว่าความลับของสายฝนกับกลิ่นของแผ่นดินคือการเข้าคู่ร่วมของกลิ่นประกอบหลายกลิ่น ซึ่งแต่ละกลิ่นก็มีกลไกที่เกิดจากการตื่นตัวแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Geosmin ที่เกิดจากแบคทีเรียในดินได้รับน้ำฝน Terpenes ที่ปล่อยออกมาหลังจากมีการเร่งกระบวนการเมตาบอลิซึ่มของพืช และ Ozone ซึ่งเป็นก๊าซพิษไม่เสถียรที่เกิดจากการถูกกระตุ้นของสายฟ้า กลิ่นทั้งสามจึงเป็นตัวแทนของความสดชื่นในฤดูฝนที่สร้างความสดชื่นให้มนุษย์ได้นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
Credits
www.bbc.com/thai/international-44990779